การขอเครดิตการชำระเงินผ่านธนาคาร
เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการค้าไทยในเวทีการค้าโลก สถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน สามารถให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการค้าในรูปของสินเชื่อเพื่อการนำเข้าและการส่งออก ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอันจะส่งผลต่อการขยายฐานการค้าของประเทศไทยอีกด้วย
1. สินเชื่อเพื่อการนำเข้า สามารถจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ
· สินเชื่อก่อนการนำเข้า (Pre-Import Financing) หมายถึง การที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อแก่ลูกค้าก่อนการนำเข้าสินค้า สินเชื่อนี้ คือ Letter of Credit: L/C เป็นสินเชื่อเพื่อการนำเข้าที่ธนาคารให้วงเงินแก่ผู้นำเข้าโดยมีหลักประกันในการเปิด L/C เพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งธนาคารจะประเมินความต้องการใช้และกำหนดวงเงินตามความจำเป็นของผู้ประกอบการ
· สินเชื่อหลังการนำเข้า (Post-Import Financing) หมายถึง ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อแก่ลูกค้าหลังจากที่ผู้ส่งออกได้ทำการส่งสินค้ามาให้ผู้นำเข้าแล้ว ผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าต้องทำการชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย ถ้าผู้นำเข้าไม่มีเงินสามารถขอสินเชื่อหลังการนำเข้าได้สินเชื่อหลังการนำเข้าได้แก่ การขอรับเอกสารแสดงสิทธิ์ในสินค้า (Trust Receipt: T/R)
การขอรับเอกสารแสดงสิทธิ์ในสินค้า (Trust Receipt: T/R) คือ การที่ธนาคารพาณิชย์ให้สินเชื่อลูกค้าหรือผู้นำเข้า ซึ่งสั่งซื้อสินค้าโดยการเปิด L/C ผ่านธนาคาร เพื่อให้ผู้นำเข้ารับสินค้าไปก่อนการชำระเงิน สินเชื่อ T/R นี้เป็น สินเชื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ เมื่อผู้ซื้อได้เปิด L/C สั่งซื้อสินค้าและสินค้าได้ถูกส่งมาถึงเมืองท่าปลายทางแล้ว โดยปกติสิทธิ์ของสินค้าจะตกอยู่กับธนาคาร ธนาคารจะโอนสิทธิ์ของสินค้านี้ให้แก่ผู้ซื้อก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้ชำระค่า สินค้าให้แก่ธนาคารแล้ว ในกรณีที่ผู้ซื้อยังไม่ต้องการชำระค่าสินค้าและมีข้อตกลงหรือมีวงเงินสินเชื่อ T/R อยู่กับธนาคาร ผู้ซื้อสามารถขอรับของไปก่อนการชำระเงินค่าสินค้าได้
ดังนั้น Trust Receipt หรือ T/R เป็นหนังสือสัญญาชนิดหนึ่งที่ผู้นำเข้าทำไว้ต่อธนาคารผู้เปิด L/C เพื่อรับรองว่าการที่ผู้นำเข้าขอเอกสารประกอบการส่งสินค้าที่ส่งมาจากธนาคารของผู้ขายไปรับสินค้าจากกรมศุลกากรเพื่อนำไปจำหน่ายก่อนนั้น กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังเป็นของธนาคารอยู่ธนาคารจะเรียกสินค้ากลับคืนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งธนาคารจะชำระเงินค่าสินค้าให้ธนาคารของผู้ขายไปก่อน ผู้ซื้อจึงมีภาระหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศและมีความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น ผู้นำเข้าจึงต้องนำเงินค่าสินค้าที่จำหน่ายได้ไปชำระคืนให้แก่ธนาคารพร้อมด้วยดอกเบี้ยเมื่อถึงกำหนด
สาเหตุของการทำสัญญาทรัสต์รีซีท คือ การที่ลูกค้าซึ่งได้เปิด L/C ไว้กับธนาคาร ไปยื่นขอทำ T/R ก็เนื่องจากว่าผู้ส่งออกสินค้า (Exporter) ได้ส่งตั๋วแลกเงินพร้อมเอกสารประกอบในการส่งสินค้า ซึ่งประกอบด้วย ใบตราส่งสินค้า (Bill of Lading) ใบกำกับสินค้า (Invoice) รายการบรรจุสินค้าและน้ำหนัก สินค้า (Packing List and Weight List) ผ่านทางธนาคารผู้รับซื้อตั๋ว (Negotiating Bank) ไปให้ธนาคาร ผู้เปิด L/C เรียกเก็บเงินจากลูกค้าผู้นำเข้าสินค้า แต่ลูกค้ายังไม่สามารถนำเงินไปชำระตามตั๋วแลกเงินได้ ในกรณีเช่นนี้ ลูกค้าหรือผู้นำเข้าซึ่งมีความจำเป็นจะต้องนำสินค้าออกไปจำหน่ายก่อน ก็อาจจะขอทำ สัญญาทรัสต์รีซีทกับทางธนาคาร เพื่อขอรับเอกสารประกอบการส่งสินค้าแล้วนำไปออกสินค้าจากกรม ศุลกากรเพื่อนำไปจำหน่ายเสียก่อนได้ และเมื่อจำหน่ายสินค้าได้ตามระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับธนาคาร แล้ว ลูกค้าจะนำเงินค่าสินค้าที่จำหน่ายได้มาชำระคืนให้แก่ธนาคารต่อไป
วัตถุประสงค์ในการขอ T/R
1. เป็นการขอเครดิตในการชำระเงินค่าสินค้าตามเงื่อนไขสัญญาการชำระทันที (At Sight)
2. เป็นการขอเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าแบบมีระยะเวลาการจ่ายเงินตามแบบ D/P
3. เป็นการขอเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าในกรณีที่สินค้ามาถึงก่อนแต่เอกสารสิทธิ์ (Shipping Documents) ยังมาไม่ถึง
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการขอเอกสารแสดงสิทธิ์ในสินค้า ประกอบด้วย
1. TRUSTEE คือผู้นำเข้าหรือลูกหนี้ของธนาคารที่ได้ขอเปิดวงเงิน L/C ไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคาร แต่จะเป็นผู้รับโอนสิทธิ์ในการครอบครองสินค้าและเอกสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ขอวงเงิน T/R
2. ENTRUSTER คือธนาคารซึ่งได้ชำระเงินค่าสินค้าตาม L/C ไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับชำระหนี้นั้นคืนจากลูกค้า ดังนั้น ธนาคารจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ในหลักทรัพย์ประกันในรูปของสินค้า และหมายถึงผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์จากผู้นำเข้า โดยทั่วไปธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม T/R ในอัตราร้อยละ 0.125 ของมูลค่าสินค้า
ขั้นตอนการให้บริการสินเชื่อต่างประเทศเพื่อการหมุนเวียนแบบทรัสต์รีซีท เมื่อลูกค้ารายใดมีความประสงค์จะขอทำทรัสต์รีซึทกับธนาคาร ก่อนอื่นลูกค้าจะต้องมีหนังสือถึงธนาคาร แจ้งความประสงค์พร้อมรายละเอียด ดังนี้
1. ผู้นำเข้าขอจัดตั้งวงเงินสินเชื่อต่างประเทศแบบ Trust Receipt โดยธนาคารจะจัดวงเงินให้เป็นวงเงิน L/C-T/R พ่วงกัน
2. หลังจากมีวงเงินดังกล่าวและมีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อนำเข้าสินค้า และมีเอกสารสินค้าตาม L/C เข้ามาแล้ว ผู้นำเข้าสามารถยื่นใบคำขอสินเชื่อต่างประเทศแบบ Trust Receipt ได้ที่ศูนย์บริการ ธุรกิจของธนาคาร เพื่อขอใช้บริการ
3. ธนาคารมอบเอกสารสินค้าเข้าตามเลตเตอร์ออฟเครดิต และเอกสารขนส่งต้นฉบับให้ผู้นำเข้าเพื่อไปรับสินค้า โดยธนาคารจะเป็นผู้ชำระเงินให้ผู้ขายในต่างประเทศแทนผู้นำเข้าไปก่อน
4. ผู้นำเข้าชำระเงินคืนธนาคารเมื่อถึงกำหนดชำระ
การขอทำใบรับรองเอกสารสิทธิ์ (Shipping Guarantee)
Shipping Guarantee: S/G เป็นหนังสือรับรองที่ธนาคารให้บริการออกหนังสือค้ำประกันไว้แก่บริษัทเรือ ในกรณีที่ผู้นำเข้าซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และสินค้าได้มาถึงท่าเรือเรียบร้อยแล้ว แต่เอกสารการค้า (Shipping Document) ยังไม่ถึงธนาคาร ดังนั้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้าไว้ที่ท่าเรือ และผู้นำเข้าต้องการรับสินค้าไปก่อนจึงสามารถร้องขอให้ธนาคารออก S/G ได้
ประโยชน์ที่ได้จากการทำ Shipping Guarantee ผู้นำเข้าสามารถลดภาระค่าโกดังเพราะสินค้ามาถึงแล้ว แต่ผู้นำเข้าไม่สามารถออกของได้ ทำให้ต้องแบกภาระในการเก็บสินค้า
· ขั้นตอนการทำ Shipping Guarantee
1. ผู้นำเข้ายื่นคำขอทำ Shipping Guarantee ต่อธนาคารพร้อมสำเนา Invoice สำเนาใบตราส่ง และ Letter of Guarantee ของบริษัทเรือ
2. ผู้นำเข้าชำระเงินค่าสินค้าทั้งจำนวนหรือยื่นแบบ Trust Receipt เพื่อขอใช้วงเงินสินเชื่อ
3. ธนาคารตรวจความสอดคล้องและความถูกต้องของเอกสารที่ยื่น
4. ธนาคารร่วมลงนามในเอกสาร Letter of Guarantee เพื่อค้ำประกันต่อบริษัทเรือร่วมกับ
ผู้นำเข้า
5. เมื่อมีเอกสารเข้ามาภายหลัง ผู้นำเข้ามาขอต้นฉบับ B/L จากธนาคารเพื่อไปแลก Letter of Guarantee จากบริษัทเรือมาคืนธนาคารเป็นอันปลดภาระการค้ำประกันต่อบริษัทเรือ
· เอกสารที่ใช้ในการขอ Shipping Guarantee
1. หนังสือรับรองการออกหนังสือค้ำประกันและ/หรือการสลักหลังใบสั่งปล่อยสินค้า (LETTER OF UNDERTAKING FOR ISSUING A LETTER OF GUARANTEE AND/OR ENDORSING DELIVERY ORDER) สามารถขอแบบฟอร์มนี้จากธนาคารพานิชย์ต่าง ๆ ได้
2. สำเนา Invoice
3. สำเนาใบตราส่งสินค้าทางทะเล/ ทางอากาศ
4. ใบคำขอสินเชื่อสินค้าเข้า (TRUST RECEIPT)
5. Letter of Guarantee ของบริษัทเรือ
2. สินเชื่อเพื่อการส่งออก แบ่งเป็น 2 วิธี คือ
· สินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออก (Pre-Shipment Financing) เป็นสินเชื่อที่ธนาคารให้การกู้ยืมแก่ผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับนำมาซื้อวัตถุดิบสำหรับการผลิต หรือการเตรียมสินค้าเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ โดยให้กู้ยืมเงินได้ทั้งก่อนการออกสินค้า และหลังการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกขอเงินได้ทั้งในรูปสกุลเงินบาทและสกุลเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันกู้ได้ 10 สกุลคือ เช่น USD EURO JPY สำหรับการค้าชายแดนเป็นสกุลเงินบาท ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ส่งออก สามารถจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. สินเชื่อจำนำสินค้า (Packing Credit Against Stock) การกู้โดยใช้สินค้าที่มีในสต๊อกสินค้ามาเป็นตัวค้ำประกัน มักเป็นสินเชื่อที่ให้กับเกษตรกรหรือผู้ส่งออกที่มีสินค้าจำนวนหนึ่งแล้วแต่ยังผลิตไม่เพียงพอเพื่อการส่งออก ธนาคารพาณิชย์จะให้ไม่เกิน 80% จากราคาสินค้าที่จำนำ
2. สินเชื่อที่มีสัญญาการค้าเป็นตัวค้ำประกัน (Packing Credit Against Contract or Purchase Order) คือการที่ผู้ส่งออกมีสินค้าที่จะส่งออกแต่ไม่มี L/C ของผู้ซื้อจากต่างประเทศแต่ผู้ส่งออกมีความต้องการที่จะใช้เงินก่อนจึงนำสัญญาซื้อขายหรือใบสั่งซื้อ
ที่ทำไว้กับผู้ซื้อในต่างประเทศไปขอกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งการกู้โดยใช้ใบสั่งซื้อสินค้า Purchase Order : P/O มากู้ธนาคารพาณิชย์จะให้ไม่เกิน 80% จากมูลค่าที่ทำการซื้อ-ขาย
3. สินเชื่อที่มี L/C มาเป็นตัวค้ำประกัน (Packing Credit Against L/C) การกู้โดยผู้ส่งออกใช้ L/C มากู้หรือเป็นตัวค้ำประกัน ผู้ส่งออกขอกู้เงินโดยมอบ L/C ให้กับธนาคารยึดเก็บไว้พร้อมเซ็นมอบสิทธิการรับเงินเพื่อเป็นหลักประกัน เงินที่กู้เพื่อไปซื้อสินค้าตามที่ระบุ ธนาคารพาณิชย์จะให้ไม่เกิน 80% จากมูลค่าที่ตกลงกันใน L/C ระยะเวลาการขอสินเชื่อต้องไม่เกินอายุ L/C หรือเท่ากับวันสุดท้ายของการส่งมอบสินค้าบวก 10 วัน
4. สินเชื่อประเภทค้ำประกันขีดความสามารถของบริษัท (Bid Bond/ Performance Bond) การที่ธนาคารของผู้ขายหรือผู้ให้บริการออกหนังสือ Bid Bond เพื่อเป็นการค้ำประกันการประมูลสินค้าที่จะขายให้ผู้ซื้อ (ที่เป็นรัฐบาล) ในต่างประเทศที่ต้องการความมั่นใจในตัวผู้ส่งออก มูลค่าของ Bid Bond จะไม่เกิน 5% ของมูลค่าสินค้าที่ประมูล
เอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออก
1. สำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์
2. สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับล่าสุด
3. สำเนาหนังสือรับรองตราสำคัญของบริษัท
4. สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
5. สำเนาใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ถ้ามี)
6. สำเนาบัตรส่งเสริมการลงทุน (ถ้ามี)
· สินเชื่อหลังการส่งออก (Post-Shipment Financing) บ่อยครั้งที่ผู้ส่งออกไม่สามารถรอการชำระเงินจากผู้ซื้อได้ จึงมีความจำต้องทำเรื่องกู้เงินจากธนาคารเพื่อนำเงินมาใช้เสียก่อน
โดยธนาคารจะให้เงินกู้แก่ผู้ส่งออก ดังนี้ การให้กู้ตามตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ที่มีระยะเวลาการชำระเงิน ซึ่งผู้ส่งออกให้วงเงินสินเชื่อกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ ธนาคารพาณิชย์ให้วงเงินในการกู้ไม่เกินร้อยละ 90 ของมูลค่าในตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange)
ประโยชน์ของสินเชื่อเพื่อการส่งออก
1. เป็นสินเชื่อระยะสั้น หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับผู้ส่งออก ในการผลิตหรือจัดเตรียมสินค้าเพื่อจำหน่ายไปยังต่างประเทศ
2. เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น
3. ผู้ส่งออกที่ประสงค์จะรับชำระเงินค่าสินค้าก่อนครบกำสามารถนำหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อจากลูกค้าในต่างประเทศไปขอก็เงินก่อน
4. ผู้ส่งออกขอกู้เงินได้ทั้งในรูปสกุลเงินบาท และสกุลเงินตราต่างประเทศ
5. กระบวนการสินเชื่อที่รวดเร็ว ผู้ส่งออกสามารถขออนุมัติเงินภายใน 24 ชั่วโมง