แนะนำอุตสาหกรรมเด่นของ ราชอาณาจักรเบลเยียม
ราชอาณาจักรเบลเยียมเป็นตลาดขนาดกะทัดรัดและหลากหลายตั้งอยู่ที่ทางแยกของยุโรป ประกอบด้วยภูมิภาค ทางทิศใต้ที่พูดภาษาฝรั่งเศส ภูมิภาคทางตอนเหนือที่พูดภาษาดัตช์ และเขตเมืองหลวงที่พูดสองภาษาในกรุงบรัสเซลส์ และชุมชนเล็ก ๆ ที่พูดภาษาเยอรมัน เบลเยียมมีประชากร 11.69 ล้านคนซึ่งถือว่าหนาแน่น และมีรายได้ต่อหัวสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป โดยมีการกระจายรายได้ที่ค่อนข้างสมดุล ส่งผลให้มีการกระจายกําลังซื้ออย่างกว้างขวางในหมู่ผู้อยู่อาศัย
ทําเลใจกลางทวีปของเบลเยียมทําให้เป็นประตูที่เหมาะสําหรับการเข้าถึงผู้บริโภค 440 ล้านคนของ EU และถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาอย่างสูงและด้วยแรงงานที่มีการศึกษาดี ศูนย์วิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย ความหลากหลายของเบลเยียมทําให้เป็นตลาดที่เหมาะสําหรับบริษัทต่างชาติหลายแห่งในการทดสอบผลิตภัณฑ์ของตนก่อนที่จะขยายการจัดจําหน่ายไปทั่วยุโรป เบลเยียมยังคงดึงดูดการลงทุนในด้านสารเคมี ปิโตรเคมี อุปกรณ์การขนส่ง เครื่องจักร พลาสติก ผลิตภัณฑ์แร่ โลหะพื้นฐาน โลหะมีค่าและหิน เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม การแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีด้านสุขภาพ สารสนเทศและการสื่อสาร และสิ่งทอ
กระบวนการส่งออกไปยังราชอาณาจักรเบลเยียมโดยสรุป เป็นดังแผนภาพต่อไปนี้
เครื่องประดับ (พิกัด 7113 – 7117)
การบริโภคเครื่องประดับและอัญมณีมีปัจจัยขับเคลื่อนหลายประการ เช่น ภาวะเศรษฐกิจหลังโควิดเพิ่มความต้องการเครื่องประดับหรู และการจัดงานแต่งงานหลังจากที่ไม่สามารถจัดได้ในช่วงโควิด ตลอดจนสถานการณ์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มกลับมาเป็นปกติ ส่งผลให้ความต้องการแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีแบบหรูเติบโตสูงขึ้น
นอกจากนี้ ช่องทางการค้าออนไลน์ก็ยังช่วยผลักดันการเติบโตของแบรนด์ที่เกิดและเติบโตในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการชอปปิ้งออนไลน์ รวมถึงแบรนด์และร้านค้าปลีกต่างหันมาลงทุนในช่องทางนี้เพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มสินค้าเครื่องประดับแฟชั่น แบรนด์ดิจิตัล (digital native brand) จะขยายตัวและกดราคาต่อหน่วยให้ต่ำลง
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือพฤติผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปนิยมเครื่องประดับอัญมณีหรูน้อยลง แม้ว่าเครื่องประดับอัญมณีหรูจะฟื้นตัว แต่จะประสบปัญหาในการดึงดูดผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริโภคตามความรู้สึก (experiential consumption) กันมากขึ้น ตลอดจนมีความต้องการสินค้าเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ที่มีราคาถูกกว่าแต่รูปลักษณ์เหมือนเพชรจริง นอกจากนี้ เทรนด์การเช่าเครื่องประดับอัญมณีสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน จะยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคา
ผู้ส่งออกไทยควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น เช่น การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เศรษฐกิจ เทรนด์การขายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่องทางการขายทางออนไลน์ เป็นต้น ประกอบกับการดำเนินธุรกิจของตนด้วย
สินค้าสัตว์ปีก (HS Code 0207 0210 1602)
แม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคชาวเบลเยียมจะมีแนวโน้มบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงหลักจริยธรรมและประเด็นทางสังคมต่างๆ มากขึ้น และเนื้อสัตว์ปีกไม่ใช่เนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคชาวเบลเยียมนิยมบริโภคมากที่สุด โดยมีปริมาณการบริโภคต่อปีอยู่ที่ประมาณ 200,000 ตัน อย่างไรก็ดี จากสถิติการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกของผู้บริโภคเบลเยียมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปี พ.ศ. 2555 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยในปี พ.ศ. 2563 ผู้บริโภคชาวเบลเยียมมีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกอยู่ที่ 15.4 กิโลกรัมต่อคน/ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2555 ที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกเพียง 11.6 กิโลกรัมต่อคน/ปี และปี พ.ศ. 2560 ที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกอยู่ที่ 13 กิโลกรัมต่อคน/ปี และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2562 ที่มีอัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกอยู่ที่ 13.8 กิโลกรัมต่อคน/ปี และ 14.6 กิโลกรัมต่อคน/ปี ตามลำดับ
สินค้าเนื้อสัตว์ปีกที่วางจำหน่ายในตลาดเบลเยียมมีหลากหลายประเภท อาทิ เนื้อไก่สด เนื้อไก่ปรุงรส/ไก่พร้อมปรุง เนื้อไก่ปรุงสุก และผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูป เป็นตัน ราคาขายปลีกอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละแหล่งจำหน่าย เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ (Mainstream Supermarket) และร้านขายเนื้อสัตว์เฉพาะ (Butcher Shop)
นอกจากนี้ ผูประกอยการควรเข้าสู่ตลาดผ่านตัวกลาง หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดนั้นๆ อย่างถ่องแท้
ข้าว (พิกัดศุลกากร 1006)
ราชอาณาจักรเบลเยียมนำเข้าข้าว จากโลกเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 321.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี พ.ศ. 2557 เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 311.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 3.04 ทั้งนี้
ชาวเบลเยียมมีชื่อเสียงในวิถีชีวิตที่ค่อนข้างหรูหรา (Burgundian lifestyle) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแสดงว่าชาวเบลเยียมจะใช้เวลาในการมีความสุขกับการดื่ม การกินอาหาร รวมถึงการปรุงอาหารเมื่อเปรียบเทียบกับชาวดัตช์ซึ่งนิยมรับประทานเพียงแซนวิชสำหรับมื้อกลางวัน ขณะที่ชาวเบลเยียมนิยมออกไปทานอาหารกลางวันข้างนอกหรือตามร้านอาหาร
ผู้บริโภคชาวเบลเยียมก็เป็นผู้ที่บริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับชาวดัตช์ โดยในแต่ละวันประมาณร้อยละ 52 ของผู้บริโภคเบลเยี่ยมทั้งหมดจะบริโภคมันฝรั่ง อีกร้อยละ 23 บริโภคพาสต้า และประมาณร้อยละ 10 บริโภคข้าว ซึ่งผู้ที่บริโภคข้าวส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้สูงอายุ และนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวเช่นเดียวกับชาวดัตช์
สำหรับตลาดเบลเยียมแล้ว สิ่งสำคัญในการส่งเสริมการบริโภคข้าวก็คือ การให้ข้อมูลความรู้ว่าข้าวมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร และความรู้เกี่ยวกับการเตรียมหรือการหุงข้าว และการนำข้าวมาปรุงอาหาร เช่น การจัดทำเอกสาร/ตำราอาหารเล็กๆ เพื่อให้การนำกลับไปปรุงเองนั้นง่ายขึ้น รวมถึงต้องคำนึงถึงการขายข้าวเป็นถุงย่อยขนาดเล็กในร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้ครอบครัวขนาดเล็ก หรือผู้ที่อยู่คนเดียว ซึ่งก็ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลักได้ซื้อข้าวไปเตรียมและบริโภคได้เองที่บ้าน ซึ่งแนวโน้มในยุโรปส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวเล็กหรือผู้ที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียวจำนวนมาก