ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
การเข้าสู่ตลาดจีนนั้นไม่ใช่ทุกรายจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการแข่งขันกันสูงมากในตลาดจีนในขณะที่จีนมีเมืองกว่า 600 เมือง แต่เมืองต่าง ๆ ในจีนมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแตกต่างกันมาก โดยเมืองรองที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ได้แก่ เมืองหนานจิง มณฑลเจียงซู, เมืองตงก่วน มณฑลกวางตุ้ง, เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง, เมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง, เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู, เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน, เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน, เมืองฉงชิ่ง, เมืองซีอาน มณฑลส่านซี และเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เป็นโอกาสสำคัญสำหรับสินค้าไทยในการเข้าสู่ตลาดจีน ด้วยผู้บริโภคในเมืองดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและเปิดรับสำหรับสินค้าไลฟ์สไตล์จากต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคในจีนกว่าร้อยละ 50 ให้ความสนใจสินค้าที่เน้นความประณีตและงานฝีมือมีการออกแบบโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีบรรจุภัณฑ์ทันสมัย สินค้ามีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ เช่น เครื่องสำอางคุณภาพดี เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ที่ส่งเสริมบุคลิกภาพและหน้าที่การงาน รวมถึงสินค้าความต้องการเพิ่มสูงขึ้นตามสัดส่วนประชากร และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคที่เรียกว่า “เศรษฐกิจขี้เกียจใหม่” (New Lazy Economy) ของจีนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารปรุงสำเร็จรูป อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจบริการในกลุ่ม ร้านอาหาร ร้านสปา ที่มีคุณภาพสูงก็เป็นที่นิยมมากขึ้น
ตลาดผลไม้สด ผลไม้สดแช่เย็น และแช่แข็ง ยังคงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ไทยอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี ยิ่งการเปิดเส้นทางรถไฟลาว-จีน ก็จะยิ่งเป็นโอกาสในการส่งออกมากขึ้นตามมา โดยผลไม้ที่จีนนำเข้าจากไทยส่วนใหญ่เป็นผลไม้เมืองร้อน ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าว เป็นต้น และคาดว่าจีนจะนำเข้าทุเรียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุเรียนไทยมีรสชาติหวานและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สำหรับมะพร้าวตอนนี้ได้รับความนิยมมากขึ้นจากร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มในจีนต้องการเนื้อมะพร้าวและน้ำมะพร้าว เพื่อนำไปประกอบเป็นอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ผู้ที่รักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ส้มโอและชมพู่อาจมีโอกาสเติบโตในตลาดจีนเช่นกัน เนื่องจากส้มโอไทยมีคุณภาพสูง และชมพู่ก็เริ่มขยายตลาดในจีนมากขึ้น ทำให้ชาวจีนรู้จักชมพู่ไทยมากขึ้นกว่าเดิม แต่สำหรับลำไย ปัจจุบันความต้องการในตลาดจีนมีไม่มากหากเทียบกับอดีต อย่างไรก็ตาม แม้ผลไม้ไทยจะได้รับความนิยมสูงในจีน แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เวียดนามกำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของตลาดนำเข้าผลไม้ไปจีน จากการพัฒนามาตรฐาน Viet GAP และมาตรฐานผลไม้ออร์แกนิค (organic) ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ไทยต้องเร่งพัฒนาคุณภาพมาตรฐานส่งออก และการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคแต่ละท้องถิ่นเชิงลึก เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในตลาดจีนให้ได้ต่อไป
ทั้งนี้ การส่งออกผลไม้ต้องทำตามมาตรการนำเข้าของจีน อาทิ มาตรฐาน GMP ใบรับรองแหล่งผลิต GAP ใบอนุญาตตรวจและกักกันโรค และใบรับรองสุขอนามัยพืช ในขณะที่การนำเข้าสินค้าผลไม้ในจีนต้องผ่านผู้นำเข้าของจีนเท่านั้น หรือในอีกทางหนึ่งคือ การร่วมทุนกับนักธุรกิจจีนเพื่อจัดตั้งบริษัทการค้า (Trading Firm)
อุตสาหกรรมอาหารปรุงสำเร็จรูปของจีนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้ออกนโยบายพัฒนานวัตกรรมใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีน และมีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามรายได้ของชาวจีนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกลุ่มผู้บริโภคหลักคือ ผู้บริโภคชนชั้นกลาง (Middle Class) ในเมืองใหญ่ อาทิ กลุ่มวัยทำงาน ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว และแม่บ้าน / พ่อบ้าน หรือแม้กระทั่งนักเรียนนักศึกษาเนื่องจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การเรียน การทำงานที่หนัก จนหันมาเลือกอาหารกึ่งสำเร็จรูปหรือสำเร็จรูปที่ประหยัดเวลา สามารถเก็บรักษาได้นาน แต่ยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ของไทยจึงควรปรับรสชาติหรือสูตรอาหารที่เหมาะสมกับกลุ่มผู้บริโภค ร่วมกับการใช้นวัตกรรมการผลิตอาหารใหม่ ๆ อาทิ การทำให้อาหารพร้อมทานเพียงแค่ใส่อาหารในไมโครเวฟไม่กี่นาทีก็สามารถรับประทานได้เลย และยังคงคุณค่าทางโภชนาการที่อยู่ในอาหารไว้ครบถ้วน พร้อมกับสื่อสารไปยังกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ที่รักสุขภาพ ในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับจากอาหารพร้อมรับประทาน อาหารพร้อมปรุงของไทย โดยเฉพาะมณฑลทางตอนใต้อย่างยูนนาน กวางซี กวางตุ้ง ไหหนาน ที่ค่อนข้างคุ้นเคยกับรสชาติอาหารไทย สามารถรับประทานอาหารรสจัดจ้านได้ โดยคาดว่าชื่อเสียงทางด้านรสชาติเอกลักษณ์เฉพาะและคุณภาพของอาหารไทยที่มีมานานในจีน จะสามารถผลักดันให้อาหารไทยปรุงสำเร็จรูปเติบโตขึ้นในตลาดจีนได้
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการนำเข้าของจีน ผู้ประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ผลิตสินค้าอาหาร ตามระเบียบฉบับใหม่ของจีน (ระเบียบ 248-249) ขอเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหาร (QS Mark) และจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลกฎระเบียบกับหน่วยงานจีนหรือหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ เพราะกฎระเบียบและมาตรการการนำเข้าของจีนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
อาหารสุนัขและแมวของไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดจีนมากที่สุด และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในตลาดจีน อาหารสุนัขแบบเม็ดระดับราคากลาง ๆ และพรีเมี่ยม อาหารแมวแบบเม็ดระดับราคากลาง ๆ และพรีเมี่ยม และอาหารแมวแบบเปียกระดับราคากลาง ๆ มีส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุด เนื่องจากปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์ชาวจีน เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาทางโภชนาการของสัตว์เลี้ยง ประกอบกับเริ่มมีแนวคิดในการเลี้ยงสัตว์เหมือนกับการเลี้ยงลูกหรือเป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว (Pet Humanization) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกอาหารเสริมที่มีคุณภาพ สอดคล้องตามสายพันธุ์และพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยง อีกทั้งความคุ้มค่าด้านราคาเมื่อเทียบกับคุณค่าที่ได้รับ ยังคงเป็นตัวเลือกที่สำคัญ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะไม่เลือกเปลี่ยนแบรนด์อาหารเมื่อสัตว์เลี้ยงปรับตัวเข้ากับอาหารของแบรนด์นั้นได้แล้ว หลาย ๆ แบรนด์ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงหันมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนมและอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับสุนัขและแมวที่มีส่วนช่วยย่อยอาหาร บำรุงผิวหนังและขน เสริมวิตามินและแร่ธาตุ ปราศจากสารปรุงแต่งและสารกันบูด เพื่อเอาใจเจ้าของสัตว์เลี้ยงชาวจีนกันมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์อยู่ในเมืองระดับ Tier 1 อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก็จะยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ปลอดสารเคมีหรือออร์แกนิคด้วย
ทั้งนี้ สินค้าอาหารสัตว์ที่นำเข้าประเทศจีน บนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีฉลากภาษาจีน ยกเว้น registered trademarks สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้โดยจะต้องไม่มีขนาดใหญ่กว่าภาษาจีน และใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ เช่น ใบรับรองแหล่งการผลิต ใบอนุญาตนำเข้าอาหารสัตว์และพืชจาก AQSIQ เป็นต้น
หลังจากสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลายลง นักท่องเที่ยวชาวจีนก็เริ่มกลับมาเที่ยวที่ไทยอีกครั้ง ซึ่งอาหารไทยก็ยังได้สร้างการรับรู้และได้รับการยอมรับมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ร้านอาหารไทยที่จีนได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอาหารไทยถือว่ามีแนวโน้มที่ดี แต่เนื่องจากร้านอาหารไทยส่วนใหญ่จะมีการนำเข้าวัตถุดิบจากไทยโดยตรง ทำให้ต้นทุนในการทำอาหารสูง และราคาเฉลี่ยของอาหารไทยในจีนอยู่ที่ 80 – 100 หยวน/คน/มื้อ ลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยโดยส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่ มีระดับรายได้ปานกลาง-สูง และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ร้านอาหารไทยจึงเหมาะสำหรับเมือง/มณฑลที่มีค่าครองชีพระดับกลาง – สูง เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว คุนหมิง เป็นต้น โดยอาหารไทยยอดนิยมในจีนได้แก่ เมนูที่มีรสชาติหวานหรือเค็ม เช่น ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ปูผัดผงกะหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ เมนูขนมหวานในร้านอาหารไทยยังได้รับความนิยมเพิ่มจากผู้บริโภคจีนตามรอย Net Idol ซีรีย์ ภาพยนตร์ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนก็หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของไทยในร้านอาหารไทยมีการปรับลดความหวานลง
ทั้งนี้ การจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารไทย ควรศึกษากฎระเบียบและมีการจดทะเบียนบริษัทก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ และเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องศึกษารสนิยมในการบริโภคของแต่ละเมือง/มณฑลในการกำหนดตำแหน่งทางการตลาด เพราะบางมณฑลชอบทานรสเผ็ดร้อน บางมณฑลชอบทานรสเค็มมัน และต้องมีการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้กับร้านอาหาร เช่น การทำร้านอาหารแบบเจาะจง (อาหารเหนือ อาหารอีสาน อาหารใต้) หรือทำเป็นร้านอาหารไทย 4 ภาค เป็นต้น
คนจีนรุ่นใหม่มีทัศนคติต่อการนวดบำบัดผิวหน้า และผิวตัว เป็นการทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายตั้งแต่ภายในสู่ภายนอก มีส่วนช่วยในการถนอมผิวพรรณและรักษาความงามให้คงไว้ได้นาน ซึ่งรูปแบบความต้องการใหม่นี้ กลายเป็นโอกาสทองสำหรับการสร้างตลาดใหม่ให้ธุรกิจบริการด้านการนวดบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเฉพาะในการดูแลความงามและผิวพรรณด้วยผลิตภัณฑ์สปาและสมุนไพรชั้นดี ซึ่งสปาไทยมีจุดเด่นทั้งด้านภาพลักษณ์และด้านผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของไทยล้วนทำมาจากพืชสมุนไพรและดอกไม้นานาพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และชาวจีนรุ่นใหม่นิยมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติหรือออร์แกนิคอยู่แล้ว เพราะอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อผิว รวมไปถึงวิธีการนวดและภูมิปัญญาไทยในการบำบัดรักษาผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่มีความเครียดหรือวิตกกังวลได้ดี อีกทั้งประเทศไทยยังขึ้นชื่อเรื่องการให้บริการ (Service mind) ที่ดีเยี่ยม พนักงานนวดชาวไทยมีความเชี่ยวชาญโดดเด่นในเรื่องให้บริการที่ประทับใจแก่ลูกค้า ธุรกิจสปาและการนวดแผนไทยจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในจีน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสปาและนวดแผนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (China –ASEAN Free Trade Area) ในเรื่องของการนำเข้าอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการนวดและผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการนวด ผลิตภัณฑ์สปาในหมวดสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ เช่น พืชสมุนไพร เป็นต้น