ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
เดนมาร์ก ถือเป็นประเทศที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด และถือเป็นประเทศที่สามารถรับมือกับวิกฤต COVID-19 ได้ดีที่สุด ซึ่งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากพฤติกรรมผู้บริโภคชาวเดนมาร์กที่ผ่านมา จะมีความโดดเด่นในเรื่องอาหารเกษตรอินทรีย์เป็นหลัก จะเห็นได้ว่าชาวเดนมาร์กมีความต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์อย่างเป็นวงกว้าง และยังมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยม รวมถึงการมีศักยภาพในการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เดนมาร์กสามารถลดปริมาณขยะจากอาหารลงได้ถึงร้อยละ 25 นอกจากนี้ กลุ่ม Food Cluster ของเดนมาร์กยังคงเดินหน้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (climate neutral) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) (อ้างอิงจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน, 2022) และเดนมาร์กยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่จะสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ข้อมูลจาก Mintel และ Statista ได้พบว่ากลุ่มสินค้าศักยภาพใหม่ในตลาดเดนมาร์ก ได้แก่ กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ, กลุ่มผลิตภัณฑ์เซรามิก, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากไม้, กลุ่มอาหารสัตว์ และกลุ่มอาหารแช่แข็ง เป็นต้น ถึงแม้เดนมาร์กจะเป็นตลาดค้าขายดั้งเดิมของไทย และเป็นตลาดขนาดเล็ก แต่ตลาดเดนมาร์กถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีสภาพแวดล้อมการทำงานมีความเป็นสากลสูง
เดนมาร์กถือเป็นประเทศผู้ผลิตเครื่องประดับและอัญมณีที่สำคัญอันดับ 9 ของสหภาพยุโรป ซึ่งนักออกแบบชาวเดนมาร์กนิยมออกแบบสไตล์เดนมาร์ก หรือ Scandinavian Design ที่เน้นการใช้เครื่องประดับเงินแทนทองที่นิยมในสมัยก่อน และนิยมสีโทนเดียวกัน ลูกค้ากลุ่มหลักของสินค้าเครื่องประดับและอัญมณี คือ กลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน เดนมาร์กถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้หญิงวัยทำงานในอัตราสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่ในเดนมาร์กจะเป็นเครื่องประดับแท้ที่ทำจากเงิน จึงทำให้เดนมาร์กถือเป็นผู้ผลิตเครื่องประดับที่ทำจากเงินและอัญมณีใหญ่ที่สุดอันดับที่ 4 ในสหภาพยุโรป ถึงแม้ในปัจจุบันการผลิตในเดนมาร์กจะเริ่มมีแนวโน้มที่ลดลง เพราะเกิดจากการมีต้นทุนการผลิตที่สูง จึงทำให้ผู้ผลิตในเดนมาร์กส่วนใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตมาลงทุนตั้งโรงงานหรือจ้างผลิตในประเทศแถบเอเชีย ที่สำคัญได้แก่ ไทย จีน เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองการผลิตอันตราย (Certificate of Dangerous Goods) หนังสือรับรองจาก GIT (The Gem and Jewelery Institute of Thailand) รวมถึงการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพและสิ่งแวดล้อมสากล (ISO 9001:2015 และ ISO 14001:2015)
เป็นต้น
ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง ความต้องการสินค้านำเข้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันกับที่ไทยส่งออกหลายรายการ แต่ไทยมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเหล่านั้นในระดับปานกลาง โดยไทยจะต้องมุ่งทำการตลาดเชิงรุก เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาดหรือหากเจรจาการค้า และให้ไทยมีแต้มต่อหรือได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยควรให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์) โดยประเทศดังกล่าวล้วนเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง ซึ่งในปัจจุบันยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกจากแบบดั้งเดิม (Traditional Ceramics) เป็นอุตสาหกรรมเซรามิกแบบสมัยใหม่ (New Ceramics/Advanced Ceramics) อาทิ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตสำหรับคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครื่องยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองขนสินค้าศุลกากร (Customs Declaration Form) หนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) รวมถึงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 1378-2551 / 1453-2557 หนังสือรับรองสุขภาพ (Health Certificate) จากหน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ผลิต และหนังสือรับรองการทดสอบ (Test Certificate) จากห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐาน
ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากไม้ (Wood Home Decor) ในเดนมาร์กมีขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย มีการเติบโตและมีความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเดนมาร์กยังคงเป็นตลาดสำคัญสำหรับกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านจากไม้ แต่ผลิตภัณฑ์ไม้ที่นำเข้าจากไทยไปยังเดนมาร์กประกอบด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์ห้องครัว ของเล่นไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้แฮนด์เมด รวมถึงการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังเดนมาร์ก ย่อมเกิดจากความต้องการและความสนใจของตลาดเดนมาร์ก ในบางกรณีอาจเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพสูง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองการรับรองไม้ (Foerst Certification) และ ใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้
ตั้งแต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน ก็ยิ่งทำให้ความต้องการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทั้งเพื่อผ่อนคลายความเครียด และหากิจกรรมทำเพื่อคลายความเหงา ซึ่งก็ส่งผลมาถึงยอดการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในปี 2020 ที่เติบโตจากปี 2019 มากถึง 18% จึงทำให้ภาพรวมของตลาดสินค้า มีการคาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงทั่วโลกในปี 2569 เติบโตเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 10 ทุกปี ซึ่งผู้เลี้ยงสัตว์เลี้ยงในกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความรู้เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง และปฏิบัติกับสัตว์เลี้ยงเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับโอกาสของสินค้าไทยนั้นสินค้าสัตว์เลี้ยงเป็นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสในการขยายตลาดสู่กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์โดยเฉพาะ สินค้าสุนัขและแมว ซึ่งมีจำนวนรวมกันถึง 6.6 ล้านตัว แต่ยังไม่พบสินค้าจากประเทศไทยในตลาดมากนัก ทั้งนี้ ในส่วนของอาหารสัตว์เลี้ยง และของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ของเล่น ปลอกคอ เชือกจูง ภาชนะใส่อาหาร กระเป๋า กระเป๋าจักรยาน แชมพู หวี และอุปกรณ์ทำความสะอาด จึงถือเป็นสิ่งที่ชาวเดนมาร์กให้ความสนใจอย่างมาก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสืออนุญาตและขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควมคุมเฉพาะ และหนังสือรับรองสุขอนามัย (Health Certification) เป็นต้น
การบริโภคอาหารทะเลแปรรูปของเดนมาร์ก มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการนำเข้า และส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทยได้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น กุ้งสดแปรรูป ปลาหมึกสดแปรรูป ปลาแปรรูป เป็นต้น ตลาดเดนมาร์กถือเป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ ถึงแม้ว่าจะมีประชากรน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปอื่น ๆ แต่มีบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่ตั้งอยู่ในเดนมาร์ก ที่ทำหน้าที่เป็นช่องทางการกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ แต่หากผู้ส่งออกไทยสนใจการส่งออกสินค้ามายังตลาดนี้ ก็สามารถติดต่อกับบริษัทผู้นำเข้าต่าง ๆ ได้โดยตรง เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ชาวเดนมาร์กให้ความสนใจอย่างมากเช่นกัน
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองแหล่งผลิตแหล่งกำเนิดอาหารปลอดโรค หนังสืออนุญาตส่งออกสัตว์น้ำ หรือ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หนังสือรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย หนังสือรับรองมาตรฐาน Hazard Analysis and Critical Control Points (HACCP) และหนังสือรับรองมาตรฐาน ISO 22000:2018 (Food safety management systems – Requirements for all organizations in the food chain)