แนะนำอุตสาหกรรมเด่นของ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สินค้าส่งออกของไทยไปฮ่องกงที่สำคัญ ได้แก่
- อัญมณี และเครื่องประดับ
- แผงวงจรไฟฟ้า
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
- เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
- เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
กระบวนการส่งออกไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยสรุป เป็นดังแผนภาพต่อไปนี้
ฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวลำดับที่ 8 ของไทย โดยไทยส่งออกข้าวไปฮ่องกงจำนวน 113.72 ล้านเหรียญสหรัฐ (4.18 พันล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2566 เป็นข้าวหอมมะลิอยู่ที่ร้อยละ 81 รองลงมาเป็นข้าวขาวร้อยละ 15 และข้าวเหนียว ร้อยละ 2 ซึ่งปริมาณข้าวหอมมะลิที่ไทยส่งออกไปยังฮ่องกงจำนวน 91.61 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.37 พันล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2566 โดยฮ่องกงเป็นตลาดส่งออกข้าวลำดับที่ 2 ของไทยรองจากสหรัฐอเมริกา
ข้าวหอมมะลิของไทยเป็นสินค้าที่มีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายตาของผู้บริโภค ได้รับความเชื่อมั่นในคุณภาพ ถือเป็นหนึ่งในข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของ SME ไทย การเพิ่มชนิดข้าวอื่น ๆ ลงในตลาดเป็นอีกสิ่งที่ SME ไทยควรพิจารณาเพื่อตอบรับกระแสรักสุขภาพของกลุ่มผู้บริโภคในฮ่องกง เช่น ข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าว กข43 ข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ ข้าวออแกนิกส์ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ตามช่องทางต่าง ๆ ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสินค้าได้ด้วย
ปัจจุบันเครื่องสำอางจากไทยได้รับความนิยมและยอมรับอย่างมากในตลาดฮ่องกง ทั้งในส่วนของครีมบำรุงที่มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย ซึ่งพัฒนามาจากสินค้าสำหรับการนวดแผนไทย อีกทั้งการมีส่วนผสมของวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น น้ำผึ้ง รังไหม ดอกไม้ และสมุนไพรธรรมชาติต่าง ๆ ยังช่วยดึงดูดผู้บริโภคในฮ่องกงได้อีกด้วย โดยประเทศไทยมีการส่งออกเครื่องสำอางไปยังฮ่องกงในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าทั้งหมด 55,814 พันดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 พันล้านบาท)
ทั้งนี้ สำหรับ SME ไทยที่ส่งออกเครื่องสำอางมายังตลาดฮ่องกง มีแนวโน้มขยายตลาดไปยังจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเนื่องจากตลาดเครื่องสำอางในจีนมีความต้องการมหาศาล อย่างไรก็ตาม การผลิตเครื่อง สำอางภายในฮ่องกงมีต้นทุนค่อนข้างสูง โรงงานจำนวนมากจึงย้ายการผลิตลงที่จีนแผ่นดินใหญ่และบางประเทศในอาเซียน เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น และอาจจะเป็นอีกโอกาสให้ SME ไทยมีบทบาทร่วมในฐานะผู้ผลิตสินค้าแบบ OEM
อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือพฤติผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปนิยมเครื่องประดับอัญมณีหรูน้อยลง แม้ว่าเครื่องประดับอัญมณีหรูจะฟื้นตัว แต่จะประสบปัญหาในการดึงดูดผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ซึ่งให้ความสำคัญกับการบริโภคตามความรู้สึก (experiential consumption) กันมากขึ้น ตลอดจนมีความต้องการสินค้าเครื่องประดับจากเพชรสังเคราะห์ที่มีราคาถูกกว่าแต่รูปลักษณ์เหมือนเพชรจริง นอกจากนี้ เทรนด์การเช่าเครื่องประดับอัญมณีสำหรับโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน จะยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคา
รสนิยมการแต่งหน้าของผู้บริโภคชาวฮ่องกงส่วนใหญ่จะไปทางโทนสีอ่อนสำหรับสไตล์การแต่งหน้าในชีวิตประจำวัน แต่หากเป็นช่วงเวลาสังสรรค์ในเวลากลางคืนจะนิยมแต่งหน้าเข้มและทาปากสีแดงสด อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรสูงวัยที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกี่ยวกับการดูแลริ้วรอยหรือผิวหน้าก่อนวัยชราจึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในตลาดนิยมมากขึ้น SME ไทยควรพิจารณาออกแบบหรือผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากพืช สมุนไพร หรือวิตามิน เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น
ฮ่องกงนำเข้าสินค้าเครื่องประดับจากประเทศไทยเป็นลำดับที่ 14 โดยในปี พ.ศ. 2563 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไปฮ่องกงมูลค่า 1,095.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 40.25 พันล้านบาท โดยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น โลหะมีค่าและของที่หุ้มด้วยโลหะมีค่าอื่น ๆ มีมูลค่าโดยรวมทั้งหมด 37.53 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.38 พันล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 53.35 หากแต่เครื่องประดับที่มีอัตราขยายตัวลดลง ได้แก่ เครื่องประดับแท้ร้อยละ -72.08 อัญมณีร้อยละ -64.01 อัญมณีสังเคราะห์ร้อยละ -32.93 และเครื่องประดับอัญมณีเทียมร้อยละ -4.33
แนวโน้มความนิยมเครื่องประดับจากเงินมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดฮ่องกง เนื่องจากราคาทองคำสูงขึ้นและมีแนวโน้มผันผวน โดยเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็นเครื่องประดับเพชร ส่วนพลอยสีต่างๆ ยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง อีกทั้งสินค้าที่เกี่ยวกับโชคลางเริ่มได้รับความนิยมในฮ่องกงเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยสามารถผลิตและออกแบบสินค้าตามความนิยมดังกล่าว เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทย ควรศึกษาและผลักดันการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ด้วย เนื่องจากวัยรุ่นในฮ่องกงปัจจุบันนิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงตลาดเครื่องประดับในฮ่องกงของผู้ประกอบการไทย ควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเพื่อเข้าถึงพาร์ทเนอร์หรือเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในตลาด และควรปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในตลาดโดยเฉพาะ ซึ่งองค์กรที่สามารถให้ความช่วยเหลือ SME ไทยในการเข้าสู่ตลาดฮ่องกง มีดังนี้
- องค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง – เป็นหน่วยงานของรัฐบาลฮ่องกงที่มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในฮ่องกง เพื่อสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จดทะเบียนบริษัทภายใต้กฎหมายฮ่องกง
- สำนักงานการค้าฮ่องกง – มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจและการค้า ให้ข้อมูลและคำแนะนำในการตั้งบริษัทหรือขยายธุรกิจไปยังฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่