ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
ความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อให้แน่ใจว่าโลกจะดีขึ้นภายในปี 2030 นั้น ญี่ปุ่นได้มีการนำมาปรับใช้ในองค์กรให้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการความยั่งยืนนี้เกือบทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน อีกทั้งคนญี่ปุ่นยังมีความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติ SDGs ทั้งด้านเสรีภาพ ความเท่าเทียม รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้สินค้ากลุ่ม BCG กำลังเติบโตได้ดีในตลาด โดยเฉพาะกลุ่มคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18 – 30 ปี จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้บรรลุเป้าหมายตาม SDGs ในปี 2030 มากที่สุด เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่มีความยั่งยืนมากกว่าคนรุ่นเก่า (Hiroshima University, 2020) จึงมักแสดงออกด้วยการเลือกสนับสนุนสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะมีราคาสูงกว่าก็ตาม ประกอบกับหลังการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมองหาสินค้าและบริการที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับ SME ไทย ในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ และสร้างความยั่งยืนแก่โลก เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่น
จิ้งหรีด เป็นอาหารโปรตีนทางเลือกที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น และกำลังเติบโตได้ดีในตลาดนำเข้าประเทศญี่ปุ่น (ตามข้อมูลของ OEC ปี 2021 ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าแมลงไปญี่ปุ่นเติบโตจากปี 2020 มากถึงร้อยละ 510) แต่อย่างไรก็ตาม แมลงยังคงเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ เพราะยังไม่เคยชินกับรูปลักษณ์ของแมลง แต่ก็มีกระแสการบริโภคแมลงแปรรูปแบบผงที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ไทย ที่ต้องการส่งออกสินค้าแมลงไปญี่ปุ่น สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแมลงเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น อาทิ ผงแมลงไว้โรยหน้า ผงชงดื่ม อีกทางหนึ่งคือการใช้บรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่บรรจุผงแมลงส่งออกไปยังผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มของประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นราเม็ง พาสต้า คุกกี้ ขนมขบเคี้ยว หรือการเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งอบหรือทอดทำการตลาดในกลุ่มคนที่ชอบทดลองอาหารแปลกพิสดาร หรือชอบลองอาหารใหม่ ๆ ตามกระแสนิยม
ทั้งนี้ หากผู้ส่งออกสินค้าแมลงได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล เช่น มาตรฐาน GMP และ GAP สำหรับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นต้น ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพเพียงพอในการแข่งขันในตลาดนำเข้าของประเทศญี่ปุ่น
สุนัขขนาดเล็กและแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนโสด กลุ่มคู่รักที่ไม่มีบุตร หรือคนสูงวัยที่อยู่ตามลำพัง ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคที่สำคัญคือการใช้จ่ายไปกับอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยงให้มีอายุยืนยาวอยู่ร่วมกันไปนาน ๆ ส่งผลให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมี่ยม ที่เลือกใช้วัตถุดิบจากเนื้อสัตว์และธรรมชาติแท้ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และปราศจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขขนาดเล็กและแมวที่น่าสนใจ ได้แก่ อาหารสุนัขแบบแห้งเม็ดเล็ก ดีต่อสุขภาพฟันของสุนัขโดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กที่มักมีปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก และอาหารแมวแบบเปียก เนื้อสัมผัสเลียนแบบเหยื่อในธรรมชาติ ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของแมว วัตถุดิบทำมาจากชิ้นเนื้อปลาแท้ เนื้อไก่ หรืออื่น ๆ และยังขยายผลไปถึงอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เช่น ขนมสุนัข ขนมแมว อาหารเสริม อาหารป้องกันโรคเฉพาะทาง เป็นต้น
ทั้งนี้ อาหารสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายปลีกในญี่ปุ่นถูกควบคุมดูแลภายใต้กฎหมายความปลอดภัยสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง (Laws concerning the Safety of Pet Food) ฉลากสินค้าจะต้องระบุชื่อสินค้า รายละเอียดวัตถุดิบ วันหมดอายุ ชื่อผู้ขาย และที่ตั้งประเทศผู้ผลิตเป็นภาษาญี่ปุ่น ดังนั้น การส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถรับจ้างผลิตแบบ OEM / ODM หรือการส่งออกสินค้าภายใต้แบรนด์ผู้ผลิต โดยจ้าง (OEM) ประเทศปลายทางบรรจุสินค้าใส่บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ได้สินค้าตามมาตรฐานของญี่ปุ่น
ผลไม้สดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ราคาผลไม้ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นจึงมีราคาสูง ชาวญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการเลือกบริโภคผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อให้ได้รับช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลไม้แต่ละชนิด อีกทั้งผลผลิตยังต้องมีคุณภาพสูง แสดงถึงความตั้งใจของผู้ปลูก ความใส่ใจในการดูแลผลผลิต และมีรสชาติอร่อย ผลไม้ไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไปญี่ปุ่น ได้แก่ กล้วยหอม และมะม่วง โดยกล้วยหอมเป็นผลไม้อันดับหนึ่งที่คนญี่ปุ่นนิยมรับประทาน เพราะมีราคาถูก และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แม้ความนิยมยังสู้กล้วยหอมจากฟิลิปปินส์ไม่ได้ แต่ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังสามารถปลูกกล้วยหอมทอง ซึ่งมีรสชาติอร่อยมากกว่ากล้วยหอมเขียวที่มีวางจำหน่ายอยู่ในตลาด ในขณะที่มะม่วงเป็นผลไม้เมืองร้อนที่คนญี่ปุ่นจะนึกถึงเมื่อกล่าวถึงผลไม้ไทย ซึ่งมะม่วงไทยที่ได้รับความนิยมคือ สายพันธุ์น้ำดอกไม้ ถูกเรียกว่ามะม่วงสีทอง มีฤดูกาลนำเข้าตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม และอีกสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมคือสายพันธุ์มหาชนก เนื่องจากมีผิวสีแดงคล้ายคลึงมะม่วงสายพันธุ์ apple mango ที่มีการปลูกและได้รับความนิยมสูงในญี่ปุ่น จำหน่ายในช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน นอกจากนี้มะม่วงยังถือว่าเป็นสินค้าที่มีราคาแพง จึงเป็นผลไม้ที่ชาวญี่ปุ่นเลือกซื้อเป็นของขวัญสุดพิเศษในงานเทศกาลต่าง ๆ
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นตลาดสินค้าคุณภาพดี การส่งออกสินค้าผลไม้สด ผู้ประกอบการ SME ไทย จะต้องศึกษาคู่แข่งตลาดมะม่วงตามฤดูกาล และควบคุมผลผลิตให้มีคุณภาพสูง อาทิ ได้การรับรองสุขอนามัยพืช (Phytosanitary Certificate) และมาตรฐาน GMP อีกทั้งยังต้องเพิ่มความคิดสร้างสรรค์และความพิถีพิถันในการผลิตตลอดจนการบรรจุลงหีบห่อ รวมถึงการสร้างสตอรี่ที่แสดงถึงความตั้งใจของผู้ปลูก ความใส่ใจในการดูแลผลผลิต เชื่อมโยงกับ SDGs เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ก็จะช่วยเพิ่มยอดส่งออกไปญี่ปุ่น
เครื่องประดับนำเข้าจากไทยที่ขยายตัวได้ดีคือ เงิน ทองคำ ไข่มุก แพลทินัม และรัตนชาติ (กรมศุลกากร, 2022) จากแนวโน้มการเติบโตนี้ ผู้ประกอบการ SME ไทยควรหันมาทำตลาดเฉพาะกลุ่ม ดังนี้ เครื่องประดับเพชรและเครื่องประดับแพลทินัมเป็นที่นิยมในกลุ่มคู่แต่งงาน เป็นตลาดขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ส่วนเครื่องประดับพลอยสีเป็นที่นิยมในบางกลุ่ม ในขณะที่เครื่องประดับเงิน และเครื่องประดับแฟชั่น (พลาสติก แก้ว หนัง) ตกแต่งพลอยสี เป็นตลาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น โดยประเภทสินค้าที่น่าสนใจได้แก่ แหวนขนาดเล็กเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าผู้หญิง อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ เครื่องประดับสำหรับผู้ชาย โดยผู้ชายชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญในการแต่งตัว และสวมใส่เครื่องประดับในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น แหวน สร้อยคอ และคัฟลิงค์ เป็นต้น และเครื่องประดับไม่ระบุเพศ (Genderless) ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในตลาดนี้ ลักษณะการออกแบบส่วนใหญ่ชาวญี่ปุ่นนิยมเครื่องประดับที่มีดีไซน์เรียบง่าย (Minimal) ชิ้นเล็ก ชอบสีเงินมากกว่าสีทอง นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังมีแฟชั่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ตลาดเครื่องประดับสำหรับสัตว์เลี้ยงจึงขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมายังประเทศญี่ปุ่นนั้นสามารถทำได้โดยเสรี แต่สินค้าจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และต้องระมัดระวังกฎหมายญี่ปุ่นเคร่งครัดในเรื่องของการปลอมแปลงสินค้า และการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากสินค้าดังกล่าวจะถูกยึดและทำลายทิ้งโดยศุลกากรแล้ว บางกรณีผู้นำเข้าต้องระวางโทษปรับหรือจำคุกอีกด้วย
เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจากแบรนด์ผู้ผลิตที่มีแนวคิดด้านความยั่งยืนกำลังครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในญี่ปุ่น โดยสินค้าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายออร์แกนิกส์เป็นตัวเลือกลำดับแรกในการตัดสินใจเลือกซื้อ รองลงมาคือเสื้อผ้ารีไซเคิล และเสื้อผ้าที่ใช้วัสดุจากพืช ตามลำดับ และยังพบอุปสรรคบางประการต่อการตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในตลาดญี่ปุ่น คือ มีตัวเลือกค่อนข้างจำกัด การสื่อสารแบรนด์ของสินค้าเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน มีร้านค้าจัดจำหน่ายไม่มากนัก และยังเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ซึ่งกลุ่มผู้บริโภค Generation Z และกลุ่ม Millennials รุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะเปิดใจลองเลือกซื้อแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและแสดงออกถึงความเท่าเทียมมากกว่ากลุ่มช่วงวัยอื่น ๆ แม้ว่าจะเป็นสินค้าจากแบรนด์ใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือมีขนาดเล็กก็ตาม โดยเครื่องแต่งกายแบบ Unisex ยังตอบสนองต่อกลุ่มคนดังกล่าวได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) จะนิยมเลือกซื้อเสื้อผ้าทำด้วยมือที่มีลักษณะเฉพาะตัวแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นหรือความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม อาทิ สินค้าจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ซึ่งเป็นโอกาสในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น กระเป๋า รองเท้า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม เป็นต้น โดยลักษณะเฉพาะตัวในการเลือกซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของคนญี่ปุ่นคือ การเลือกซื้อเสื้อผ้าที่ช่วยเพิ่มความสูง ปกปิดรูปร่าง (ช่วงขาสั้น) และการซื้อเสื้อผ้าตามฤดูกาล สินค้าจากประเทศไทยส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าที่เหมาะสำหรับฤดูร้อนของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ทอด้วยเส้นใยธรรมชาติจากพืชไปยังประเทศญี่ปุ่นได้นั้น ผู้ประกอบจะต้องขอใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary certificate : PC) ใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช และต้องไม่มีสารเคมีตกค้างจากกระบวนการผลิต ไม่มีสารเคมีอันตรายต้องห้ามเกินกว่าที่กำหนดในการนำเข้าสินค้าตามมาตรการของญี่ปุ่น