ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
ประเทศมาเลเซียวางนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศมาเลเซียให้มีความเจริญ ครอบครุมและยั่งยืน เพื่อประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นโดยขับเคลื่อนผ่านการพัฒนาความสามารถพิเศษของทรัพยากรบุคคลในอนาคต การสนับสนุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การปรับปรุง เชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานของระบบการคมนาคม และการวร้างความเข้มแข็งด้านการบริการสาธารณะ
เศรษฐกิจของประเทศมาเลเซียเติบโตต่อเนื่อง มีอัตราการว่างงานต่ำ ทำให้ประชาชนมีรายได้สำหรับการอุปโภค บริโภค สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภค ผู้บริโภคเริ่มสนใจบริโภคสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมากกว่าการบริโภคแบบฟุ่มเฟือย และต้องการการบริการที่สะดวกสบาย คุ้มค่า ในการใช้บริการ
ชาวมาเลเซียให้ความสำคัญกับสัตว์เลี้ยงเสมือนเพื่อนหรือสมาชิกภายในครอบครัว เนื่องจากสัตว์เลี้ยงช่วยเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย ลดความตึงเครียด และความวิตกกังวลของผู้เลี้ยง ชาวมาเลเซียที่มีสัตว์เลี้ยงจึงให้ความสำคัญกับสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยง ราคาของผลิตภัณฑ์จึงไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า อย่างไรก็ตามสินค้าจะต้องให้ความรู้สึกคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาในท้องตลาด
ธุรกิจ SME ไทยสามารถนำเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวมาเลเซียผ่านการสร้างโอกาสการทดลองใช้ผ่านร้าน Pet Café ที่ชาวมาเลเซียนิยม และควรหาช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยงในระดับท้องถิ่น เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคยังนิยมการซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านค้า ส่วนในด้านการขนส่ง ผู้ประกอบการ SME สามารถใช้การขนส่งทางถนนผ่านการใช้บริการผู้ให้บริการขนส่งแบบ Door to Door และที่สำคัญผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงจะต้องมีใบอนุญาตจาก Malaysian Quarantine and Inspection Services พร้อมใบรับรองจากสัตวแพทย์
อุตสาหกรรมความงามและสุขภาพของประเทศมาเลเซียมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดยเครื่องสำอางที่มีสัดส่วนของส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดคือ เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้าและดวงตา แต่กลุ่มสินค้าที่ประเทศมาเลเซียนำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของประเทศมาเลเซียนิยมใช้ช่องทาง Social Media โดยเฉพาะ Instagram และ TikTok
การจำหน่ายเครื่องสำอางในประเทศมาเลเซียควรได้รับการรับรองสัญลักษณ์ฮาลาล และเครื่องสำอางในประเทศมาเลเซียถูกควบคุมด้วยมาตรฐานของ National Pharmaceutical Regulatory Agency ซึ่งธุรกิจ SME ที่ต้องการนำเข้าเครื่องสำอางจะต้องจดทะเบียนกับ Suruhanjaya Syarikat Malaysia โดยผู้ประกอบการ SME สามารถใช้การขนส่งทางถนนผ่านการใช้บริการผู้ให้บริการขนส่งแบบ Door to Door
ความสามารถในการผลิตผลไม้ของมาเลเซียมีเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ผลไม้สดที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคชาวมาเลเซียได้แก่ แอปเปิ้ล ลูกแพร์ กล้วย และผลไม้อื่น ๆ ความต้องการบริโภคผลไม้สดของผู้บริโภคชาวมาเลเซียเกิดจากการให้ความสำคัญด้านการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภควัย 25-35 ปี ผู้บริโภคชาวมาเลเซยมีความคุ้นเคยกับผลไม้ของประเทศไทยเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีความคล้ายกับผลไม้ในท้องถิ่นของมาเลเซีย
เกษตรกร ผู้ผลิตผลไม้ควรปรับปรุงกระบวนการผลิตผลไม้ให้ได้รับมาตรฐาน GAP รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการวางแผนการผลิตแบบปลอดสารพิษ และผู้ส่งออกผลไม้ควรสร้างมาตรฐานสถานที่สำหรับขั้นตอนการรับซื้อและส่งออกผลไม้ให้ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งการขนส่งผลไม้ไปสู่ประเทศมาเลเซียสามารถขนส่งผลไม้ทางช่องทางถนนผ่านตลาดค้าส่งผลไม้สด ผู้ผลิตและผู้ส่งออกผลไม้สดที่นำเข้าสู่ประเทศมาเลเซียจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของ FAMA
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในประเทศมาเลเซียมีอัตราการเติบโตขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยผู้บริโภคชาวมาเลเซียนิยมซื้ออาหารผ่านร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าลดราคา และผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพและปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคสนใจอาหารออร์แกนิกส์ที่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการได้สูงกว่าอาหารทั่วไปและมีความยินดีที่จะจ่ายเพื่อให้ได้อาหารที่มีคุณภาพ ทำให้ธุรกิจ SME ของประเทศไทยสามารถนำเสนออาหารประเภทขนมขบเคี้ยวที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ อาทิ มีกากใยอาหาร เสริมโปรตีนและวิตามิน
ผู้บริโภคชาวมาเลเซียมีความคุ้นเคยกับอาหารของประเทศไทยจากการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยธุรกิจ SME สามารถนำเสนอสินค้าผ่านการจัดจำหน่ายในร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการจับคู่สัญญาแบบ B2B กับผู้ประกอบการภายในประเทศมาเลเซียเพื่อส่งสินค้าต่อไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม โดยผลิตภัณฑ์ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศมาเลเซีย
อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอของประเทศมาเลเซียยังไม่ถูกผูกขาดจากแบรนด์สินค้าเสื้อผ้า ทำให้เกิดความน่าสนใจในการเข้าทำธุรกิจ โดยผู้บริโภคห้ความสนใจในการเลือกบริโภคเสื้อผ้าที่มีความใส่ใจด้านความยั่งยืน ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามือ 2 ของมาเลเซียเริ่มเติบโตขึ้นจากความนิยมเสื้อผ้าที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ลอดการใช้พลังงานจากการรีดผ้า ธุรกิจ SME สามารถนำเสนอเสื้อผ้าผ่านการท่องเที่ยว ช่องทางการค้าแบบ Window Shopping หรือ Dropship ร่วมกับการจําหน่ายผ่าน Online Platform โดยสามารถขนส่งผ่านเส้นทางถนน
สำหรับผู้ส่งออกที่ต้องการส่งเสื้อผ้ามือสองจะต้องขอใบอนุญาตเป็นผู้จำหน่ายสินค้ามือสอง และห้ามส่งสินค้าระหว่าง 19.00 น. ถึง 07.00 น.