ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
ประเทศฟิลิปปินส์ยึดหลักการวางแผนพัฒนาเพื่อเป็นแนวทาสำหรับการมีส่วนร่วมของหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการพัฒนา ได้แก่ การรักษาอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม, การเพิ่มบริการด้านสาธารณสุขและสร้างหลักประกันรายได้ให้เข้าถึงประชาชนอย่างทั่วถึง, ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี การวิจัย พัฒนาให้เกิดนวัตกรรม , และการสร้างความสามัคคีของคนในชาติ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์มุ่งสร้างความแข็งแกร่งและเอื้อให้เกิดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ภาคการค้าและการลงทุน
ประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ได้มีข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กลไก CEPT ซึ่งหมายถึงการลดภาษีแบบต่างตอบแทน ซึ่งภาษีสำหรับการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเกือบทุกชนิดมีอัตราร้อยละ 0 ยกเว้นสินค้ากลุ่มอ่อนไหวมาก อาทิ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์แปรรูป และน้ำตาล
ประเทศฟิลิปปินส์มีอัตราการเกิดของเด็กสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น ๆ เนื่องจากความเชื่อทางศาสนา ที่ไม่สนับสนุนการคุมกำเนิด ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกที่มีสัดส่วนการจำหน่ายสูงที่สุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ และรองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม ผ้าเปียกเช็ดทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดด ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องคือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวแพ้ง่าย ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและทารกคือ ราคา การมีส่วนผสมจากธรรมชาติ และคุณภาพสูง
การเข้าสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์สินค้าสำหรับเด็กที่มีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการ SME ควรหาคู่ค้าที่สามารถกระจายสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุม หรือการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจ ซึ่งผู้ประกอบการ SME จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการแสดงรายละเอียดในฉลากสินค้า รวมถึงพึงระวังด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
ปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เจ้าใดสามารถครองตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศฟิลิปปินส์ได้ ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคสินค้าผ่านทางร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร โดยปัจจัยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้แก่การซื้อสินค้าแบบออนไลน์และสังคมไร้เงินสด นอกจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ คือ การตระหนักเรื่องสุขภาพ
โอกาสสำหรับธุรกิจ SME คือเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในกลุ่ม Function Drink และเครื่องดื่มชูกำลังที่มีรสชาติดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพจากสารสกัดสมุนไพร โดยการพัฒนาสูตรให้สามารถลดปริมาณน้ำตาลเพื่อให้สอดรับกับกฎหมายด้านภาษีและพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์การนำเข้าสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มต้องได้รับการอนุมัติโดยหน่วยงานด้านอาหารและยา ภายใต้ FDA Act of 2009
การเติบโตของรายได้ต่อหัวของผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ส่งผลต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล โดยช่องทางการจัดจำหน่ายร้อยละ 85.9 เป็นช่องทางร้านค้าแบบออฟไลน์ อาทิ เคาน์เตอร์ เครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่าง และร้านสะดวกซื้อ
อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเพิ่มความน่าเชื่อถือตัวสินค้าและแบรนด์ผ่านการรีวิวผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้า อินฟลูเอนเซอร์จึงถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างการกำหนดแบรนด์ในใจลูกค้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ยังให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าไม่มีการทดลองในสัตว์ ไม่มีพาราเบน แอลกอฮอล์ สีสังเคราะห์และน้ำหอม ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่สามารถนำเข้าไปจัดจำหน่ายในประเทศฟิลิปปินส์ จะต้องได้รับ Import License จากศุลกากรของประเทศฟิลิปปินส์
ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มีการใช้จ่ายสำหรับการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้าน รวมถึงการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่น หลังจากสถานการณ์โควิด-19 พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป การสั่งอาหารกลับบ้านมีสัดส่วนลดลง ขณะที่การรับประทานอาหารที่ร้านและการสั่งอาหารจากบ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการใช้บริการรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การซื้ออาหารแบบไดรฟ์ทรู การสั่งอาหารแบบ Curbside Pickups
รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญกับนโยบายความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นตัวสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์คือ การหาคู่ค้าทางธุรกิจในท้องถิ่น การเลือกสถานที่ตั้งในเขตชุมชนเมืองที่มีประชากรอาศัยหนาแน่นหรือเป็นศูนย์รวมของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง โดยผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนธุรกิจร้านอาหารในประเทศฟิลิปปินส์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการนำเข้าอาหารและเครื่องดื่ม และกฎหมายการจัดตั้งบริษัทตาม Foreign Investment Act of 1991
การเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชาชนชาวฟิลิปปินส์ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมีมากขึ้น แนวโน้มตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นจากนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามผู้ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ที่หมดระยะเวลารับประกันจะต้องซ่อมบำรุงด้วยตนเอง ผู้ประกอบการ SME สามารถขยายตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ผ่านการจับคู่สัญญาผลิตและจำหน่ายให้แต่ละแบรนด์ยานยนต์ รวมถึงการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ผ่านช่องทาง e-Commerce
สำหรับสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ที่ใช้แล้ว ยกเว้นเครื่องยนต์ จะมีความเคร่งครัดในการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้า CERTIFICATE OF AUTHORITY TO IMPORT (CAI) FOR USED MOTOR VEHICLES, PARTS AND COMPONENTS ก่อนการนำสินค้าเข้าประเทศ