แนะนำอุตสาหกรรมเด่นของ สาธารณรัฐสิงคโปร์
สาธารณรัฐสิงคโปร์ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรจำนวน 5.45 ล้าน โดยผู้ถือสัญชาติสิงคโปร์จำนวน 3.5 ล้านคน มีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 8,019 คนต่อตารางกิโลเมตร
ทรัพยากรที่สำคัญของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรมหลักของสาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้แก่ การผลิต การก่อสร้าง การคมนาคมขนส่ง และโทรคมนาคม การเงินและการธนาคาร และการบริการอื่น ๆ
ในปี พ.ศ. 2566 สาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นคู่ค้าลำดับที่ 3 ของประเทศไทยในอาเซียนรองจากมาเลเซีย และเวียดนาม และเป็นคู่ค้าลำดับที่ 9 ของประเทศไทยในโลก
สาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นประเทศที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเปิด พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ และมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก สิงคโปร์สนับสนุนนโยบายการลงทุนที่เปิดกว้างและมีระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีที่แข็งแกร่ง ในขณะเดียวกันก็มีการจัดการและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง และดำเนินนโยบายด้วยความโปร่งใส มีกฎหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โครงสร้างภาษีที่น่าดึงดูดให้มาร่วมลงทุน และยังอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังมีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตที่เข้มงวด
สิงคโปร์มีเศรษฐกิจที่หลากหลายซึ่งดึงดูดการลงทุนจำนวนมากจากต่างประเทศ ในทั้งภาคการผลิต (ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ยา เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร) และภาคบริการ (การเงิน การค้า และธุรกิจ) รัฐบาลสิงคโปร์ส่งเสริมประเทศให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมสำหรับธุรกิจ โดยมีทั้งการลดหย่อนภาษี สนับสนุนทุนการวิจัย
กระบวนการส่งออกไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์โดยสรุป เป็นดังแผนภาพต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าการขายสินค้าเครื่องปรุงและซอสปรุงรสในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับปีที่ พ.ศ. 2565 คิดเป็น 154.9 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (4.20 พันล้านบาท) โดยในปี พ.ศ. 2564 ไทยส่งออกเครื่องปรุงและซอสปรุงรสมูลค่า15,271 พันดอลลาร์สหรัฐ (561.17 ล้านบาท) และในปีต่อมา (พ.ศ. 2565) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่ากับ 18,120 พันดอลลาร์สหรัฐ (665.86 ล้านบาท)
ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงมองหาซอสหรือเครื่องปรุงที่มีไขมันต่ำและลดปริมาณเกลือกับน้ำตาลลง หากแต่ซอสที่มีปริมาณโซเดียมต่ำและส่งผลดีต่อสุขภาพมักจะหาซื้อได้ยากตามช่องทางทั่วไปเมื่อเทียบกับสินค้าปกติทั่วไป ทำให้เครื่องปรุงรสที่มีผลดีต่อสุขภาพเป็นที่ต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า เนื่องจากชาวสิงคโปร์นิยมเลือกหาและซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบไทยสามารภประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งลดต้นทุนมากกว่าการประชาสัมพันธ์แบบอื่น อีกทั้งยังเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
ปี พ.ศ. 2564 ไทยส่งออกน้ำผลไม้ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ มูลค่า 17,731 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 651.58 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2565 มีมูลค่าลดลงเท่ากับ 16,446 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 604.36 ล้านบาท และมูลค่าสินค้าลดลงเหลือ 14,012 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 514.91 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2566
ยอดขายน้ำผลไม้ในสิงคโปร์ลดลงเนื่องจากผู้บริโภคกังวลเรื่องระดับน้ำตาลในน้ำผลไม้ ทำให้หันไปเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น Functional Drinks และเครื่องดื่มพร้อมดื่มแบบน้ำตาลต่ำ อย่างไรก็ตาม มุมมองผู้บริโภคต่อน้ำผลไม้ 100% อยู่ในระดับดี เนื่องจากมีส่วนผสมที่ดีต่อสุขภาพและมาจากธรรมชาติ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาซื้อน้ำผลไม้ 100% แทนผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลสูง แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ ต้องหาวิธีใหม่ในการดึงดูดผู้บริโภค
แม้น้ำส้มยังคงเป็นที่นิยม แต่ผู้บริโภคชาวสิงคโปร์เริ่มสนใจน้ำผลไม้รสชาติแปลกใหม่มากขึ้น นำไปสู่นวัตกรรมน้ำผลไม้ เช่น น้ำผลไม้แบบอัดแก๊สและไม่อัดแก๊ส การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายขวดไวน์ทำให้เป็นของขวัญที่ดีต่อสุขภาพ
กลยุทธ์การเข้าตลาด อาจพิจารณาการนำแบรนด์ไปร่วมกับ สถานประกอบการด้านอาหาร เช่น ร้านอาหารหรือคาเฟ่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ในตลาด นอกจากนี้ การสร้างสรรค์แคมเปญสุขภาพ การจัดกิจกรรมเชิงสุขภาพ หรือการนำเสนอสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วย สร้างความสนใจ และดึงดูดลูกค้าให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางการค้าและขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2566 พบว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์ที่นั่ง (พิกัด 9401) มีมูลค่าเท่ากับ 6,220 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 228.57 ล้านบาท ส่วนเฟอร์นิเจอร์ (พิกัด 9403) มีมูลค่าเท่ากับ 2,342 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 86.06 ล้านบาท ส่วนเฟอร์นิเจอร์เครื่องเตียง (พิกัด 9404) มีมูลค่าเท่ากับ 4,639 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 170.47 ล้านบาท และอุปกรณ์ให้แสงสว่าง (พิกัด 9405) มีมูลค่าเท่ากับ 1,425 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือ 52.37 ล้านบาท
ในปัจจุบันที่เงินเฟ้อทำให้ค่าใช้จ่ายด้านความบันเทิงในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะลดการเดินทางออกนอกบ้านและมองหากิจกรรมความบันเทิงในบ้านเป็นส่วนใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นผลให้การตกแต่งบ้านกลางแจ้งเติบโตขึ้น เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์เตาย่างบาร์บีคิวก็เป็นที่ต้องการมากขึ้น เทรนด์นี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้งและการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการออกไปนอกบ้านในช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจไม่แน่นอน
นอกจากนี้ ผู้บริโภคสิงคโปร์ ยังนิยมเฟอร์นิเจอร์ที่ช่วยให้ใช้พื้นที่ในบ้านได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด และเป็นสินค้าที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วัสดุหลักที่ใช้มีคุณสมบัติความยั่งยืน เช่น ไม้ที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวใหม่ (Reclaimed Wood) หรือพลาสติกรีไซเคิล และกระบวนการผลิตที่ลดการใช้น้ำหรือพลังงาน
การเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น การใช้ตัวกลางหรือผู้มีความเชี่ยวชาญใน ตลาดเป็นสิ่งสำคัญนักธุรกิจไทยมี่สนใจส่งออกสินค้าเฟอร์นิเจอร์สามารถติดต่อผ่านองค์กรต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ กระบวนการเข้าตลาดเป็นไปอย่างราบรื่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น