ที่มา: คณะทำงานบริษัท มาร์เก็ตเมทริกซ์ เอเชีย จำกัด
แนะนำ 5 อุตสาหกรรม SME ไทยมีศักยภาพส่งออก
ปัจจุบันนโยบายภาพรวมของแอฟริกาใต้มีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการส่งเสริมการแข่งขันและบูรณาการในระดับภูมิภาค การรวมกลุ่มการค้าในภูมิภาคที่เป็นประโยชน์ต่อแอฟริกาใต้ แต่แอฟริกาใต้มีภาคการเกษตรที่ยังต้องพึ่งพาการนําเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศแอฟริกาใต้มีความหลากหลายตามประเทศและกลุ่มประชากรที่แตกต่างกันทำให้มีการผสมผสานระหว่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมที่หลากหลาย อาทิ African, Indian, Malay รวมถึงอิทธิพลจากโปรตุเกส ดังนั้น แอฟริกาใต้จึงเปรียบเสมือนเป็นแหล่งรวมเรื่องการครัวจากทั่วโลก และจากนโยบายของแอฟริกาใต้ในประเด็นด้านภาษี และเขตการค้าต่าง ๆ ทำให้ SME และผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าประเภทอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนสินค้าประเภทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปยังแอฟริกาใต้ โดยมีสินค้าที่มีศักยภาพ ดังนี้
ประชากรผู้บริโภคชาวแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าว โดยมีชนิดข้าวที่บริโภค ดังนี้ ข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวชนิดหนึ่งที่ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่บริโภค โดยผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ผู้บริโภคส่วนหนึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานจากประเทศแอฟริกาตะวันตกที่นิยมบริโภคข้าวนึ่งอยู่แล้ว ข้าวขาว เป็นข้าวที่ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่บริโภค โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีระดับรายได้ปานกลาง และกลุ่มคนเอเชียที่ย้ายมาทำงานในแอฟริกาใต้ และข้าวหอมมะลิไทย / ข้าวบาสมาติ ยังมีการบริโภคยังไม่สูงมาก เนื่องจากระดับราคาที่สูงจึงเป็นการบริโภคในกลุ่มคนที่มีรายได้สูง ในตลาดข้าวพบว่าข้าวไทยยังคงครองอันดับที่ 1 ในแอฟริกาใต้ มีการขายปลีกข้าวถุงออนไลน์จากบริษัทโบรกเกอร์ต่างประเทศที่นำเข้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออก อาทิ อินเดีย ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐฯ เป็นต้น เพื่อบรรจุ (Re – Packing) ลงในถุง และจัดจำหน่ายในแบรนด์ท้องถิ่น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรอง สถานที่ผลิตและผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออกของประเทศไทย หนังสือรับรองสถานที่ผลิตอาหาร (Certificate of Manufacturer: COM) หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale: COF) หนังสือรับรองสูตรส่วนประกอบ (Certificate of Ingredient) ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย มาตรฐานด้านคุณภาพ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยของแอฟริกาใต้
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราของอาเซียนและของโลก ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) กลางน้ำ (Middle Stream) และปลายน้ำ (Downstream) ยางพาราของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับโลก จากสัดส่วนการนำเข้าสินค้าประเภทยางของประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า ประเทศไทยมีสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ซึ่งมีปริมาณส่งออกเป็นลำดับต้น ๆ เช่น ถุงมือยาง รองเท้ายาง สายยาง แผ่นยางพารา ยางแท่ง เป็นต้น มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสินค้าและผลิตภัณฑ์ยางพาราโดยร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในงานด้านวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ทั่วไป) ใบรับรองมาตรฐาน Codex Alimentarius ใบรับรองมาตรฐาน SABS 829:2022 ปฏิบัติตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยของแอฟริกาใต้
แอฟริกาใต้มีการก่อสร้างและฟื้นฟูสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานเป็นจำนวนมาก และจากการที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่รวดเร็ว ทำให้ประชากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นรถยนต์จึงเป็นสิ่งที่ต้องการของผู้ที่มีรายได้สูงหรือผู้ที่มีฐานะดีขึ้น และปัจจุบันแอฟริกาใต้เป็นฐานการผลิตของค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ อุตสาหกรรมการผลิตและประกอบยานยนต์ของแอฟริกาใต้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตและประกอบยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา ผลการประกอบการของอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมการประกอบยานยนต์ในแอฟริกาใต้ ทั้งในด้านค้าปลีก การผลิตและการส่งออกรถยนต์และอะไหล่ มีการขยายตัวค่อนข้างสูงและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงตลาดการซ่อมบำรุงยานยนต์ในแอฟริกาใต้ก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้ประกอบการ SME ที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดในแอฟริกาใต้สูงขึ้น โดยส่วนประกอบ ชิ้นส่วน และอะไหล่ ที่มีลู่ทางและศักยภาพสูงในตลาดแอฟริกาใต้ ได้แก่ สินค้าที่ผลิตตาม OEM เพื่อนำมาประกอบการผลิตซึ่งบริษัทแม่จะเป็นผู้กำหนดสั่งซื้อ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น ใบรับแจ้งหมายเลขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นอกจากนี้จะต้องผ่านมาตรฐานที่กําหนดและควบคุมโดยหน่วยงาน National Regulator for Copulsary Specifications (NRCS) SADC (Southern African Development Community): SADC SABS (South African Bureau of Standards): SABS
ปัจจุบันในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มการบริโภคปลาที่สูงขึ้นจากความตระหนักรู้ด้านสุขภาพของผู้บริโภค ผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ใช้ปลาเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารท้องถิ่น โดยปลาแปรรูปเป็นทางเลือกที่มีความสะดวกสบายสำหรับการบริโภคและการทำอาหาร ตลอดจนปัจจุบันมีความหลากหลายของปลาแปรรูปในแอฟริกาใต้ รวมถึงปลาแห้ง ปลากระป๋อง ปลาแช่เย็น และส่วนผสมจากปลาเพื่อใช้ในการทำอาหาร ซึ่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลของโลก เนื่องจาก มีพื้นที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรประมงทะเลจึงมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ รวมถึงพฤติกรรมคนแอฟริกาใต้ที่นิยมปรุงอาหารโดยใช้อาหารแปรรูปแบบแห้งเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการเตรียมอาหาร จากการมีระยะเวลาที่จำกัด เนื่องจากปัจจัยหลัก คือ ประหยัดเวลาและสะดวก ปลาแปรรูปจึงเป็นสินค้าที่มีความน่าสนใจในแอฟริกาใต้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองสถานที่ผลิตอาหาร (Certificate of Manufacturer: COM) หนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale: COF) หนังสือรับรองสูตรส่วนประกอบ (Certificate of Ingredient) มาตรฐานสินค้าของแอฟริกาใต้ (South Africa Bureau of Standard : SABS) ปฏิบัติตามข้อกำหนดเฉพาะ (NRCS)
สิ่งทอและเครื่องแต่งกายเป็นอุตสาหกรรมสําคัญของไทยที่ผลิตเพื่อใช้อุปโภคภายในประเทศได้อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิตเส้นใย) กลางน้ำ (การปั่นด้าย ทอผ้า ถักผ้า ฟอกย้อม และพิมพ์ตกแต่ง) และปลายน้ำ (การผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูป) และสามารถส่งออกไปยังประเทศสำคัญต่าง ๆ ทั่วโลก โดยประชากรแอฟริกาใต้นิยมสวมใส่เสื้อผ้าลำลอง ง่ายๆ สบายตัว ดังนั้นกางเกงยีนส์และรองเท้า จึงพบเห็นได้ตามท้องถนนทั่วไป ชาวแอฟริกาใต้มักใช้สีสันสดใสและลวดลายสะดุดตาในการตกแต่งเสื้อผ้า เพื่อแสดงความสดใสและความเป็นเอกลักษณ์ เช่น ลายการ์ตูนสีสันสดใสหรือลายที่มีลักษณะเฉพาะ เครื่องแต่งกาย ผ้าทอ และผ้าลูกไม้ รวมถึงนิยมใช้ลวดลายผ้าแสดงถึงความเป็นพวกพ้องและแสดงออกถึงความรู้สึก ลวดลายและสีสันที่ปรากฏบนผืนผ้า มักแสดงออกสิ่งสวยงามและมีคุณค่าในแต่ละท้องถิ่น โรงพิมพ์ผ้าของไทยยังได้รับออเดอร์จากประเทศทางแอฟริกาสั่งพิมพ์ลายผ้าส่งออกไปขาย หากไทยรู้จักและเข้าใจแอฟริกามากขึ้นอาจเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่สามารถอยู่ในตลาดได้ เนื่องจาก เสื้อผ้าตัดสำเร็จของไทยถือเป็นสินค้าคุณภาพดีในแอฟริกาทั้งตะวันตกและตะวันออก
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกต้องขอหนังสือรับรองต่าง ๆ เช่น ใบรับรองปลอดศัตรูพืช (Phytosanitary certificate : PC ) ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัย COMESA (Common Market for Eastern and Southern Africa)