แนะนำอุตสาหกรรมเด่นของ สมาพันธรัฐสวิส
สมาพันธรัฐสวิสก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 1843 โดยเริ่มจากการเป็นพันธมิตรป้องกันระหว่างสามมณฑล และในปีต่อ ๆ มา ท้องถิ่นอื่น ๆ ภายในประเทศก็ได้เข้าร่วมด้วย อํานาจอธิปไตยและความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ได้รับการยกย่องจากมหาอํานาจยุโรป โดยสวิตเซอร์แลนด์มีการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านทางการรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปตลอดจนบทบาทในสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง
สำหรับ GDP ของสวิตเซอร์แลนด์นั้นพบว่ามีจำนวน 807.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 29,140 พันล้านบาท) โดยอุตสาหกรรมหลักของสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ นาฬิกา และสิ่งทอ และมีสินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาและเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย อุตสาหกรรมนาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์และโลหะ ส่วนตลาดส่งออกสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์)
ในทางตรงกันข้าม สินค้านำเข้าสำคัญของสวิสนั้น ได้แก่ ยาและเคมีภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย โลหะ สินค้ากลุ่มพลังงาน อาหาร ยานพาหนะ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีตลาดนำเข้าที่สำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ ยุโรป เอเชีย (โดยเฉพาะจีนและเกาหลี) และอเมริกาเหนือ
กระบวนการส่งออกไปยังสมาพันธรัฐสวิสโดยสรุป เป็นดังแผนภาพต่อไปนี้
เครื่องประดับ (พิกัด 7113 – 7117)
สถานการณ์การส่งออกสินค้าไทย-สมาพันธรัฐสวิสระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2565 ไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น พลอยเนื้อแข็งและเนื้ออ่อนเจียระไน โลหะเงิน และ เครื่องประดับทอง เป็นอันดับหนึ่ง โดยมีอัตราการเติบโตในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 306.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (99.53 พันล้านบาท โดยประมาณ แปลงค่าสกุลเงินด้วยอัตราวันที่ 30 พ.ค. 2567) หรือร้อยละ 83.76 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสมาพันธรัฐสวิสจากไทย
ในปี พ.ศ. 2565 อุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของสมาพันธรัฐสวิสมีการฟื้นตัวหลังมีการผ่อนคลายมาตรการโควิด ส่งผลให้ความต้องการแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีแบบหรูเติบโตสูงขึ้น และส่งผลให้ยอดขายเครื่องประดับอัญมณีสําหรับการแต่งงาน โดยเฉพาะแหวน เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ คาดว่าในปี พ.ศ. 2566 ยอดขายเครื่องประดับหรูจะแซงหน้ายอดขายเครื่องประดับแฟชั่น เนื่องจากผูู้บริโภคที่มีฐานะกลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง และกระแสการจัดงานแต่งงานที่กลับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565
นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการค้าระหว่างประเทศของไทยและสมาพันธรัฐสวิสตลอดมา โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น และมีการขอรับสิทธิพิเศษทางภาษี (Generalized System of Preference: GSP) มากขึ้นต่อเนื่อง และไทยถือเป็นผู้ผลิตด้านเครื่องประดับที่มีศักยภาพอยู่แล้ว
ข้าว (พิกัด 1006)
สถานการณ์การส่งออกระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2564 ประเทศไทยส่งออกข้าวไปยังสมาพันธรัฐสวิสเฉลี่ยปีละ 12,891 ตัน ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 ไทยส่งออกข้าวไปยังสมาพันธรัฐสวิสในปริมาณ 6,345 ตัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ. 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 6,760 ตัน หรือลดลงร้อยละ 6.14 โดยชนิดข้าวที่ส่งออกไปยังสมาพันธรัฐสวิสส่วนใหญ่ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย (ร้อยละ 84.84) ข้าวหอมไทย (ร้อยละ 5.01) และข้าวเหนียว (ร้อยละ 3.39)
ในขณะเดียวกัน สำหรับปี พ.ศ. 2566 สมาพันธรัฐสวิสนำเข้าข้าวจากทั่วโลกคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 93,111 ตัน คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงร้อยละ 7.37 หรือคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 102 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.39 โดยนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ บราซิล อิตาลี ไทย อินเดีย และปากีสถาน ตามลำดับ
สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออกต่อ โดยนำข้าวที่นำเข้ามาผ่านกระบวนการขัดสีหรือดำเนินการบรรจุภัณฑ์ใหม่ก่อนส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียง อาทิ เยอรมณี เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม เป็นต้น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับไทย เนื่องจากสมาพันธรัฐสวิสมีผลผลิตข้าวที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ สมาพันธรัฐสวิสจึงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อใช้ในการบริโภคเป็นหลัก โดยปัจจัยที่มีผลต่อการนำเข้า คือ คุณภาพและมาตรฐานมากกว่าปัจจัยด้านราคา
สินค้าอาหารออร์แกนิก (พิกัด 1601, 1604, 1902, 2104)
สมาพันธรัฐสวิสผลิตสินค้าอาหารออร์แกนิกได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในประเทศจึงต้องมีการนำเข้ามาจากประเทศอื่น ซึ่งโดยตามกฏการนำเข้าของสมาพันธรัฐสวิสจะอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะสินค้าที่ผลิตไม่ได้ในประเทศ เช่น เมล็ดกาแฟ หรือสินค้าที่มีปริมาณการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ เช่น ธัญพืช เป็นต้น โดยสินค้าอาหารออร์แกนิกที่มีการนำเข้ามากที่สุด 10 อันดับแรกในปี พ.ศ. 2565 ได้แก่ ธัญพืช หัวผักกาดสำหรับผลิตน้ำตาล อาหารสัตว์ ผลไม้สด ผักสด โกโก้ น้ำตาลผลิตภัณฑ์นมทดแทน ไวน์ และน้ำผลไม้ ตามลำดับ
ในส่วนของโอกาสด้านการตลาด กระแสความนิยมของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคมังสวิรัติและผู้บริโภค Vegan เป็นกระแสเดียวกันกับกระแสความนิยมของสินค้าอาหารออร์แกนิก เพียงแต่ผู้บริโภคมังสวิรัติและผู้บริโภค Vegan มีความต้องการที่ จะหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริโภคมังสวิรัติ และกลุ่มผู้บริโภค Vegan ส่วนใหญ่มักจะซื้อสินค้าอาหารออร์แกนิกที่มีคุณภาพ โดยปริมาณสองในสามของมูลค่าการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ และนมในตลาดสินค้าอาหารออร์แกนิกจะได้มาจากกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว
ทั้งนี้ สินค้ามังสวิรัติ หรือ Vegan ในปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบมาตรฐาน หรือต้องการ certificate มากมายชัดเจนเท่าสินค้าอาหารออร์แกนิก ทำให้การส่งออกมา EU หรือประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ทำได้ง่ายกว่าการผลิตหรือส่งออกสินค้าอาหารออร์แกนิก และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า จึงถือเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะพัฒนาอาหารเพื่อการส่งออกให้เหมาะกับแนวโน้มการบริโภคนี้ต่อไป เนื่องจากไทยมีวัตถุดิบที่หลากหลาย และมีความถนัดการผลิตอาหารประเภทนี้อยู่มาก เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเต้าหู้ออร์แกนิก โปรตีนเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น