แนะนำอุตสาหกรรมเด่นของ สหราชอาณาจักร
สหราชอาณาจักร (United Kingdom) มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 81 ของโลก เมืองหลวงคือกรุงลอนดอน มีอัตราการเติบโตของประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.45 ต่อปี ปัจจุบันปีพ.ศ. 2567 มีประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน แบ่งเป็นประชากรชายและประชากรหญิงอย่างละประมาณ 34 ล้านคน
เป็นคู่ค้าอันดับที่ 22 ของไทย มีมูลค่าการค้ารวมในปี พ.ศ. 2566 ประมาณ 6.74 พันล้านเหรียญสหรัฐ (246,869.35 ล้านบาท) โดยสินค้าส่งออกสำคัญจากประเทศไทยไปสหราชอาณาจักร ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ชิ้นส่วนอากาศยาน และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
สหราชอาณาจักรมีความโดดเด่นในด้านการค้าและการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โดยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สามเมื่อพิจารณาเฉพาะสหภาพยุโรป รองจาก เยอรมนี และฝรั่งเศส ถูกจัดให้เป็นประเทศรายได้สูง (High-Income Economies) มีความโดดเด่นในด้านการค้า สินค้าเกษตรกรรม แหล่งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน น้ำมัน นอกจากนี้ยังโดดเด่นในภาคการให้บริการ เช่น บริการธนาคาร การประกันภัย และการให้บริการธุรกิจ โดยถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เกิดการเติบโตของสหราชอาณาจักร
กระบวนการส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรโดยสรุป เป็นดังแผนภาพต่อไปนี้
ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยส่งออกสินค้า Plant-Based เป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยการส่งออกของประเทศไทยไปยังสหราชอาณาจักรยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหารแห่งอนาคต (Future Food) อย่างอาหารที่ทำจากพืช (Plant-Based Food) แม้ว่าปัจจุบันการขยายตัวดังกล่าวจะชะลอตัวลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าครองชีพจึงสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันกลับมาบริโภคเนื้อสัตว์แทนที่การทานเนื้อจากพืชเพื่อลดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม บริษัทหลายรายในสหราชอาณาจักรเริ่มดำเนินการลดราคาสินค้าเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนการผลิตสินค้าให้ต่ำลงหรือปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากพืชที่ใช้ เพื่อให้คงคุณภาพและประโยชน์สูงสุดในราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยสินค้าที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์นม ชีส โยเกิร์ตจากพืช
ผู้บริโภคชาวเบลเยียมก็เป็นผู้ที่บริโภคมันฝรั่งเป็นอาหารหลักเช่นเดียวกับชาวดัตช์ โดยในแต่ละวันประมาณร้อยละ 52 ของผู้บริโภคเบลเยี่ยมทั้งหมดจะบริโภคมันฝรั่ง อีกร้อยละ 23 บริโภคพาสต้า และประมาณร้อยละ 10 บริโภคข้าว ซึ่งผู้ที่บริโภคข้าวส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้สูงอายุ และนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวเช่นเดียวกับชาวดัตช์
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาการนำเข้าสินค้าจากพืชในรูปแบบอาหารพร้อมทานเพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งช่องทางการจำหน่ายสินค้า Plant-Based ในสหราชอาณาจักรสามารถกระจายสินค้าได้หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต ช่องทางออนไลน์ Amazon UK หรือเว็ปไซด์ของห้างค้าปลีก หรือการสั่งผ่าน Food Service เช่น ร้านอาหาร ร้านขนมหวานคาเฟ่ หรือร้านกาแฟ เป็นต้น
การส่งออกขนมขบเคี้ยวจากไทยเข้าสู่สหราชอาณาจักรอยู่ในลำดับที่ 10 ในปี พ.ศ. 2566 คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 809,880,391 บาท ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2565 โดยมีมูลค่าทั้งหมด 609,731,775 บาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 32.86 ซึ่งพฤติกรรมการทานขนมขบเคี้ยวที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหราชอาณาจักรประกาศมาตรการห้ามส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นประกาศเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณไขมัน เกลือ หรือน้ำตาล (HFSS) ในสินค้าที่มีปริมาณส่วนประกอบดังกล่าวสูง เนื่องจากสำรวจพบว่าในกลุ่มเด็กวัยเยาว์นิยมทานมันฝรั่งทอดกรอบ (Crisps) เป็นปริมาณมาก ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับปัญหาน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดและความเสี่ยงอาจเป็นโรคอ้วนในหมู่เด็กวัยเจริญเติบโต แบ่งเป็นเด็กวัย 11 ปี ประมาณ 1 ใน 3 และในหมู่เด็กวัย 5 ปี มากกว่า 1 ใน 5
ด้วยภาพลักษณ์ของขนมขบเคี้ยวที่มีลักษณะในเชิงลบที่ไม่ดี เป็นโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยในการออกแบบสินค้าที่เป็นขนมขบเคี้ยว แต่ยังคงคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติอร่อย เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการขนมขบเคี้ยวแต่มีความกังวลเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาขนมคบเคี้ยวรสหวานทานง่าย ปราศจากกลูเตน และเสริมสร้างการเติบโตสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก และพิจารณารสชาติเค็มสำหรับกลุ่มเด็กวัยรุ่นตอนต้นถึงปลาย
ผู้ประกอบการไทยสามารถพิจารณาช่องทางต่อไปนี้เพื่อเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า ได้แก่ การจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่าย การจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ร้านค้าที่ขายสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง หรือเป็นพาร์ทเนอร์กับร้านอาหารต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักร เป็นต้น
หลังจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ประกอบกับการแพร่ระบาดของเชื้อ E.Coli ที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญและระมัดระวังในการเลือกซื้ออาหาร โดยเน้นความสะอาดและมีมาตรฐาน ส่งผลให้ปริมาณการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกเพิ่มมากขึ้นและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 25.4 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤติโควิด
ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาการจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มออร์แกนิกให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาด โดยสหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าออร์แกนิกจากประเทศไทย ในปี พ.ศ.2566 มูลค่าทั้งหมด 173,986,956 บาท เป็นน้ำมะพร้าวมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 94,527,693 บาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 54 จากมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด
ทั้งนี้ ช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่ขึ้นชื่อว่าประสบความสำเร็จสูงสุดสำหรับสินค้าออร์แกนิก คือ การจำหน่ายสินค้าผ่านเครือธุรกิจร้านอาหาร อย่างเช่นการจำหน่ายเครื่องดื่มออร์แกนิกตามร้านกาแฟ เป็นต้น นอกจากนี้ การบริการจัดส่งสินค้าออร์แกนิกไปยังสถานที่ปลายทางเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่สามารถเพิ่มยอดขายสินค้าได้