loader

           โดยปกติผู้ประกอบการอาจจะมีโมเดลธุรกิจที่ดีอยู่แล้ว แต่เป็นโมเดลที่ใช้สำหรับการประกอบกิจการภายในประเทศเท่านั้น ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการต้องการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ โดยผู้ประกอบการสามารถใช้ Business Model Canvas ในการจัดทำแผนกลยุทธ์ในการส่งออกเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วยส่วนประกอบต่อไปนี้

1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segment)

           เป็นการวิเคราะห์ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในประเทศปลายทางให้มีความชัดเจน จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจรูปแบบพฤติกรรมการบริโภค ความต้องการสินค้า บริบททางสังคมและวัฒนธรรม การใช้งานเทคโนโลยี ช่องทางเข้าถึงสินค้า เพื่อออกแบบและนำเสนอสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าจึงสามารถแบ่งได้ดังนี้

  • ประเทศ เมือง มณฑล หรือ มลรัฐ อาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบท ที่เป็นตลาดเป้าหมายสำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ต้องการส่งออก โดยเบื้องต้น ดูจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
    ความเสถียรภาพทางการเมือง ความเชื่อมั่นด้านต่าง ๆ และภูมิประเทศ ภูมิอากาศ เป็นต้น
  • เลือกกลุ่มที่จะช่วยกระจายสินค้า เช่น distributor, Agent, Consignee, หรือ Trader ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะเป็นการทำธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) คือการทำการค้าระหว่างคู่ค้าธุรกิจ
  • กลุ่มผู้บริโภคที่เป็น end user กลุ่มลูกค้าเหล่านี้ อายุ เพศ การศึกษา รายได้ อาชีพ ระดับชั้น
    ทางสังคม พฤติกรรมการซื้อ ความถี่ในการใช้ ความเชื่อ ค่านิยม รสนิยม เป็นอย่างไร หรือปัญหา
    ที่ลูกค้าพบคืออะไร และจำนวนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เราเลือกนั้นนั้นมีจำนวนมากพอ (Market Size) และมีแนวโน้มที่จะเติบโต (Market Growth) อย่างต่อเนื่องหรือไม่

2. คุณค่าของสินค้าและบริการ (Value Proposition)

           เมื่อทราบกลุ่มลูกค้าเป้าหมายแล้วนั้น ต้องสามารถระบุคุณค่าหลักของสินค้าหรือบริการที่ส่งออกไปยังประเทศเป้าหมาย ซึ่งเป็นส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด ในขั้นตอนนี้ต้องสามารถบอกได้ว่าสินค้าหรือบริการมีความแตกต่างจากสินค้าหรือบริการที่มีอยู่ในตลาดอย่างไร สินค้าหรือบริการจะช่วยเข้าไปแก้ปัญหา (Paint Point) หรือตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้า อาทิ มีความแปลกใหม่จากสินค้าอื่น ๆ ในท้องตลาด ราคาเหมาะสม เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ด้านรสนิยมผู้ใช้งาน และทำให้คุณภาพชีวิตของลูกค้าดีขึ้นได้อย่างไร

           นอกจากที่กล่าวไปในข้างต้นนี้ ยังจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมด้านเนื้อหา (Content) ในการสื่อสารคุณค่าของแบรนด์ที่จะสื่อสารหรือส่งมอบไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มีความชัดเจน สามารถตอบโจทย์หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME เพื่อสร้างการจดจำและส่งเสริมความเข้าใจในสินค้าและบริการ ให้รับทราบคุณค่าและประโยชน์ในการใช้สินค้าและบริการ นอกจากนี้ การสื่อสารแบรนด์ยังเป็นตอกย้ำถึงตัวตนของแบรนด์ สร้างความเชื่อมั่นในธุรกิจ และทำให้ตำแหน่งของสินค้าและบริการของแบรนด์มีความแตกต่างจากคู่แข่ง

3. ช่องทาง (Channels)

           ช่องทางเข้าถึงลูกค้าเป็นจุดสัมผัส (Touch Point) ที่ช่วยให้ธุรกิจได้เชื่อมต่อกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในการสื่อสารสร้างการรับรู้สินค้าและบริการ เนื่องจากเป็นช่องทางที่ใช้ในการนำเสนอคุณค่าของสินค้าและบริการให้กับลูกค้า รวมทั้งเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับลูกค้า และเป็นช่องทางการกระจายสินค้าหรือบริการไปยังลูกค้า เช่น ผ่านตัวแทนจำหน่าย การจัดส่งสินค้าหรือบริการออนไลน์ เป็นต้น โดยช่องทางแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • ช่องทางที่เป็นเจ้าของ เช่น Social media WeChat หรือ เว็บไซด์ของบริษัท เป็นต้น
  • ช่องทางพันธมิตร เช่น ห้างสรรพสินค้าที่นำสินค้าไปขาย หรือ Social media, Alibaba, JDMall, Tmal,
    l Global, Amazon และ Ebay เป็นต้น
  • ช่องทางจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมการค้าระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นต้น

           ทั้งนี้ ในการกำหนดช่องทางเข้าถึงลูกค้าเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การวิเคราะห์เลือกใช้ช่องทางต้องเหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ช่องทางใดที่จะช่วยให้มีความสะดวกในการซื้อขายสินค้า อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อ รูปแบบการใช้งานสื่อหรือข้อจำกัดการเข้าถึงช่องทางแต่ละประเทศ หรือช่องทางใดที่จะช่วยสื่อสารข้อมูลสินค้าได้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด เนื่องจากช่องทางเหล่านี้เป็นช่องทางที่ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์ (Touch Point) ตั้งแต่กระบวนการก่อนซื้อขาย ระหว่างการซื้อขาย และหลังจากการซื้อขาย หากผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างประสบการณ์อันดีต่อลูกค้าให้เกิดความพึงพอใจได้ทั้งกระบวนการ ท้ายที่สุดนั้นลูกค้าจะเกิดความประทับใจ กลับมาซื้อซ้ำ หรือบอกต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดหรือบุคคลที่อยู่บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นการสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่โดยที่ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม

4. ลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationships)

          การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าต้องคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก อาจต้องมีการกำหนดลูกค้าแต่ละกลุ่มในการวางแผนสร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า สามารถวิเคราะห์ร่วมกับเส้นทางการเดินทางของลูกค้า (Customer Journey) จะช่วยให้ระบุจุดหรือช่องทางที่ลูกค้าต้องมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจ (Touch Point) ผ่านการสื่อสาร การโต้ตอบ และการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า ตั้งแต่เริ่มรู้จักสินค้าและบริการ การเปรียบเทียบ การตัดสินใจซื้อสินค้า การใช้งานสินค้า หรือใช้การจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship Management: CRM) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าใจวิธีการวางแผนสร้างประสบการณ์อันดีให้กับลูกค้า จะช่วยให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ หรือลูกค้าจะบอกต่อสินค้าของเราให้กับผู้อื่น โดยการวางแผนมีดังนี้

  • การเข้าใจความต้องการของลูกค้า ศึกษาและเข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าในสินค้าหรือบริการ โดยการศึกษาตลาดและการสำรวจความคิดเห็นของลูกค้าอาจช่วยให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
  • การให้บริการลูกค้า สร้างประสบการณ์ที่ดีและพิเศษให้กับลูกค้าด้วยการนำเสนอบริการทั้งก่อนการขาย ระหว่างการขาย และหลังการขายที่ดีเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาและรับฟังข้อเสนอแนะของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
  • การส่งเสริมการมีส่วนร่วม เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วม อาทิ การแสดงความคิดเห็นต่อสินค้า ข้อเสนอแนะการปรับปรุงสินค้า หรือการร่วมออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เกมชิงรางวัลรวมถึงการสนับสนุนการสร้างสรรค์เนื้อหาต่าง ๆ (Content) จากลูกค้าผู้ใช้งานจริงหรืออาจเป็นกลุ่มที่มีความชื่นชอบสินค้า (User-generated content หรือ UGC) ได้บอกต่อความประทับใจหรือประสบการณ์การใช้สินค้าไปยังกลุ่มผู้ใช้งาน Social Media ด้วยตนเอง เช่น การรีวิวสินค้าผ่านช่องทาง Youtube เป็นต้น จะช่วยให้รับทราบผลตอบรับที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้าและยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าที่อาจมีความสนใจผลิตภัณฑ์โดยที่แบรนด์ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • การสร้างความสัมพันธ์ยาวนาน พยายามสร้างความสัมพันธ์ยาวนานกับลูกค้า โดยการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและการสนับสนุนลูกค้าในระยะยาว ความภูมิใจของลูกค้าในสินค้าหรือบริการสามารถช่วยสร้างศักยภาพในการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่แข็งแกร่งขึ้น
  • การสร้างความน่าเชื่อถือ ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกค้าในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการ ควรให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การปฏิบัติอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดและการส่งมอบสินค้าหรือบริการตรงตามคำสั่งซื้อของลูกค้า หรือมีตัวอย่างให้ลูกค้าไปทดลองใช้ก่อนเป็นต้น
  • การสร้างความผูกพัน สร้างความผูกพันและความภาคภูมิใจในลูกค้าผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น โปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่เป็นสมาชิก การให้ส่วนลดสำหรับลูกค้าที่สั่งซื้ออย่างสม่ำเสมอ หรือโปรแกรม
    ของลูกค้าที่ให้สิทธิประโยชน์พิเศษ เพื่อสร้างความคุ้มครองและความสุขใจให้กับลูกค้าในการซื้อสินค้าหรือบริการของคุณ

5. รายได้และประโยชน์ที่ได้รับ (Revenue Streams)

           รายได้หลักที่ธุรกิจได้รับ ต้องระบุว่ารายได้ของธุรกิจมาจากแหล่งใด ๆ บ้าง อย่างเช่น

  • การขายสินค้า รายได้ที่ได้จากการขายสินค้าหรือสินค้าให้กับลูกค้า โดยสามารถเป็นการขายตรงผ่านช่องทางเป็นต้น
  • การสมัครสมาชิกแบบรายเดือน/รายปี รายได้ที่ได้รับจากการเสนอสมาชิกให้กับลูกค้าที่สมัครเป็นสมาชิกและชำระค่าบริการในรูปแบบรายเดือนหรือรายปี
  • การให้ยืมหรือเช่าสินค้าและบริการ รายได้ที่ได้รับจากการให้บริการยืมหรือเช่าสินค้าให้กับลูกค้าเช่น การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์หรือการให้บริการเช่ารถ
  • รายได้อื่น ๆ รายได้ที่ได้รับจากแหล่งอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกกล่าวไว้ข้างต้น เช่น รายได้จากการขายสิ่งของเสริมหรือบริการเสริม                                                                                                                    การระบุและจัดรูปแบบรายได้หลักของธุรกิจในช่องกระแสรายได้ (Revenue Stream) จะช่วยให้มีภาพรวมและมีความเข้าใจชัดเจนเกี่ยวกับแหล่งรายได้ที่สำคัญของธุรกิจ

6. กิจกรรมสำคัญ (Key Activities)

           เป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ หรือเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างคู่ค้าและการดำเนินธุรกิจหลัก เพื่อให้คู่ค้าสนับสนุนธุรกิจได้ดีมากขึ้นกิจกรรมอาจเป็น

  • กิจกรรมที่สร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มลูกค้า เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า หรือการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของสินค้าหรือบริการ
  • กิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ดีกับคู่ค้า เช่น การจัดกิจกรรมพิเศษหรือโปรโมชั่นเฉพาะสำหรับคู่ค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือทางธุรกิจ
  • กิจกรรมที่สนับสนุนการขาย เช่น การสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายเพิ่มเติมหรือการพัฒนากลยุทธ์การตลาดที่ช่วยเพิ่มยอดขาย
  • กิจกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการให้บริการ เช่น การพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือการตรวจสอบและปรับปรุงกระบวนการให้บริการ

           การระบุและดำเนินการกิจกรรมหลักในกิจกรรมสำคัญ (Key Activities) จะช่วยให้วางแผนและดำเนินกิจกรรมที่สำคัญเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

7. ทรัพยากรหลัก (Key Resources)

          ทรัพยากรหลักที่ธุรกิจต้องใช้เพื่อดำเนินการธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจที่มีการผลิตสินค้า ตัวอย่างทรัพยากรหลักที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเช่น

  • วัตถุดิบ วัตถุดิบหรือวัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า อาจเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือในกระบวนการบริการ
  • เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต หรือเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการขนส่งสินค้า เป็นต้น
  • แรงงาน คนงานที่จำเป็นในกระบวนการผลิต อาจเป็นคนงานที่ผลิตสินค้าหรือพนักงานที่ให้บริการกับลูกค้า
  • สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ สิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการ เช่น สิทธิบัตรการผลิตหรือการให้บริการเฉพาะ
  • ทรัพยากรการเงิน ทรัพยากรทางการเงินที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เช่น ทุนลงทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจหรือทุนที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย

การระบุและจัดการทรัพยากรหลักในช่องทรัพยากรสำคัญ (Key Resources) จะช่วยให้มีภาพรวมและความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับทรัพยากรที่สำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ

8. พันธมิตรหลัก (Key Partnerships)                                                                                                                                                                                                                                                                                           พันธมิตรหรือหุ้นส่วนที่ทำงานร่วมกับเราเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างธุรกิจ พันธมิตรที่สำคัญและส่งผลต่อธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน เช่น:

  • ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบ พันธมิตรที่มีการผลิตหรือจัดหาวัตถุดิบที่สำคัญสำหรับธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตที่สามารถจัดหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงและราคาที่เหมาะสม
  • บริษัทพาณิชย์ พันธมิตรที่ช่วยในกระบวนการการขายและการตลาด เช่น ผู้จัดจำหน่ายที่มีช่องทางการกระจายสินค้าที่กว้างขวางและช่วยเพิ่มยอดขาย
  • ธนาคารพานิชย์ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย ที่มีบริการช่วยเหลือด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ สินเชื่อเพื่อการส่งออก และอัตราแลกเปลี่ยน
  • บริษัทที่ให้บริการ พันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านบริการที่สำคัญสำหรับธุรกิจ เช่น บริษัทที่ให้บริการทางเทคโนโลยีหรือบริการขนส่งระหว่างประเทศ สายเรือ สายการบินเป็นต้น
  • พันธมิตรที่เป็นหน่วยงานของภาครัฐ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร สำนักงานส่งเสริมการลงทุน BOI
  • พันธมิตรที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา เช่นมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะช่วยเหลือบุคคลากรด้านงานวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ร่วมกันกับผู้ประกอบการ
  • พันธมิตรทางกฎหมาย บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายที่สำคัญสำหรับธุรกิจ เช่น ทนายความหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ช่วยในการป้องกันความเสี่ยงทางกฎหมาย กฎหมายเรื่องสิทธิบัตรต่าง ๆ เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จากประเทศผู้นำเข้า และการทำสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ

           การเลือกและบริหารจัดพันธมิตรที่ดีใน Key Partners (KP) จะช่วยให้มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ โดยพันธมิตรที่น่าเชื่อถือมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความสำเร็จในธุรกิจ

9. โครงสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่าย (Cost Structure)

            โครงสร้างต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจทั้งหมด โดยมุ่งเน้นในการคำนวณต้นทุนในกระบวนการผลิตและบริการ เพื่อช่วยให้เราสามารถกำหนดราคาสินค้าและบริการได้อย่างเหมาะสม ต้นทุนสามารถ
แบ่งออกเป็นส่วนประกอบหลัก ๆ ดังนี้

  • ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถแบ่งเป็นค่าซื้อเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษา เช่น ค่าซื้อเครื่องจักร ค่าการซ่อมบำรุง เป็นต้น
  • ค่าวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นค่าซื้อวัตถุดิบ ค่าขนส่งวัตถุดิบ เช่น ค่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ค่าขนส่งวัตถุดิบ เป็นต้น
  • ค่าแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและจ่ายค่าจ้างแรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและบริการ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นค่าจ้างพนักงานต่อชั่วโมง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าสวัสดิการ เป็นต้น
  • ต้นทุนการขนส่ง เช่นค่าระวางเรือ ค่ารถขนส่งเป็นต้น
  • ค่าบริการในการดำเนินการ จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ
  • ค่าใช้จ่ายทางการบริหารและที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการบริหารและดำเนินงานทั่วไปของธุรกิจ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าคลังสินค้า ค่าโทรศัพท์ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าประกันภัย ค่าขนส่ง เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาธุรกิจ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชี ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการตลาด ค่านายหน้าหรือตัวแทนขายทั้งในและต่างประเทศ (Sole distribution agent) เป็นต้น

           การจัดทำและการจัดการ Cost Structure ช่วยให้รับรู้และควบคุมต้นทุนในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยในการวางแผนธุรกิจ การตัดสินใจเกี่ยวกับราคาสินค้าและบริการ และการปรับแก้ไขเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ Business Model Canvas (BMC)

: ผลิตภัณฑ์รังนกน้ำลำไย เพื่อบำรุงสุขภาพ

           1. กลุ่มลูกค้า (Customer Segment) ประเทศจีน เมืองชินโจว” (Qinzhou City) ของเขตฯ กว่างซีจ้วง เมืองชินโจวเป็นที่ตั้งของ “ด่านการนำเข้ารังนกขน” และเป็นที่ตั้งของ “สวนอุตสาหกรรมแปรรูปรังนกแบบ
ครบวงจร นอกจากนี้รังนกสรรพคุณทางยาตามความเชื่อในศาสตร์แพทย์แผนจีนที่สืบทอดมายาวนาน จึงเป็นอาหารบำรุงกำลังชั้นยอดในสายตาของผู้บริโภคชาวจีน โดยกลุ่มลูกค้าของผลิตภัณฑ์รังนกน้ำลำไย ประกอบด้วย

  • ตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ที่เป็นตัวแทนนำเข้าและกระจายสินค้ารักนกน้ำลำใยในเมือง ชินโจว ครบวงจร
  • ผู้บริโภคสินค้าปลายทาง (End user) ได้แก่ กลุ่มวัยทำงานเพศชายและหญิง อายุระหว่าง 25 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มทำงานหนักและพักผ่อนน้อย มีความเชื่อและมั่นใจในคุณภาพของรักนกน้ำลำไยไทย และสั่งซื้อรังนกน้ำลำไยจากผู้ประกอบการไทยโดยตรงผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนหรือ Cross-Border E-Commence (CBEC)

           2. คุณค่าของสินค้าและบริการ (Value Proposition) รังนกน้ำลำไยผ่านการจดทะเบียนอาหารและยาของจีน หรือ NMPA และ ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC จึงจะสามารถส่งออกไปประเทศจีนได้

  • Distributor ได้ค่า commission และส่วนต่างกำไรมากกว่ารังนกจากผู้ประกอบการอื่น ๆ เช่นจากมาเลเซีย เพราะค่าขนส่งระหว่างไทย-จีน ถูกกว่า
  • End user รังนกในน้ำลำไย จะช่วยบำรุงร่างกาย ลำใยมีสรรพคุณใกล้เคียงกับโสม และนอกจากนี้
    ชาวจีนยังเชื่อว่าลำใยเป็นผลไม้ดวงตามังกร นอกจากบำรุงร่างกาย รสชาติชุ่มคอแล้ว การบริโภคลำใยจะทำให้โชคดีอีกด้วย นอกจากนี้รสชาติดี หอมหวานไม่มีกลิ่นคาวเหมือนรังนกทั่วไปที่ไม่ได้ผสมน้ำลำไย ราคาเหมาะสม รังนกแท้

           3. ช่องทาง (Channels)

  • ช่องทางของตัวเอง : Social media, WeChat, Douyin (Tiktok) หรือ เว็บไซด์ของบริษัท เป็นต้น
  • ช่องทางพันธมิตร : ห้างสรรพสินค้าที่นำสินค้าไปขาย หรือ  Alibaba, JDMall, Tmall Global

          4. Customer Relationships (ความสัมพันธ์กับลูกค้า)

  • Distributor ให้ส่วนลดทางการค้า เพิ่มค่า commission หรือเซ็นต์สัญญาเป็นผู้แทนกระจายสินค้าหรือกระจายสินค้าในระยะและแต่เพียงผู้เดียวในจีน
  • End user จัด Promotion ตามเทศกาล และทำ membership สะสมแต้ม เป็นต้น

          5. รายได้และประโยชน์ที่ได้รับ (Revenue Streams)

  • รายได้จากการขายรังนกน้ำลำไยจาก Distributor
  • รายได้จากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และสมัครเป็นสมาชิกรายปี

          6. กิจกรรมสำคัญ (Key Activities)

  • ผลิตรังนกน้ำลำไย
  • พัฒนาและคิดค้นสูตรใหม่ เช่นรังนกน้ำลิ้นจี่
  • ทำการตลาดผ่าน platform online ต่าง ๆ ของจีน

          7. ทรัพยากรหลัก (Key Resources)

  • รังนกในถ้ำที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน หรือ GACC จึงจะสามารถส่งออกไปประเทศจีนได้
  • เครื่องจักรและอุปกรณ์: เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต
  • แรงงาน: คนงานที่จำเป็นในกระบวนการผลิต อาจเป็นคนงานที่ผลิตสินค้าหรือพนักงานที่ให้บริการกับลูกค้า
  • ทรัพยากรการเงิน: ทุนลงทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจหรือทุนที่ใช้ในกระบวนการผลิตและการจัดจำหน่าย นอกจากนี้ยังได้รับสินเชื่อเพื่อการส่งออกจากธนาคารพานิชย์ของไทย

          8. พันธมิตรหลัก (Key Partnerships)

  • ธนาคารที่ให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก
  • ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารเพื่อพัฒนาสูตรใหม่ จากมหาวิทยาลัยของรัฐ
  • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม
  • กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

          9. โครงสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่าย (Cost Structure)

  • ค่าเครื่องจักรและอุปกรณ์: ค่าใช้จ่ายในการจัดหาและบำรุงรักษาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิต
  • ค่าวัตถุดิบ: รักนกและลำใยมีคุณภาพจากภาคเหนือของไทย
  • ค่าแรงงาน: ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานและจ่ายค่าจ้างแรงงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและบริหาร
  • ต้นทุนการขนส่ง: เช่นค่าขนที่ส่วนใหญ่ส่งเป็นแบบ FOB หรือ CIF แล้วแต่กรณีที่ลูกค้าต้องการ
    ในกรณีที่ส่งไปให้ Distributor  ส่วน End user ใช้บริการ Courier services ลูกค้าเป็นคนจ่ายค่าขนส่ง
  • ค่าบริการในการดำเนินการ: จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินพิธีการศุลกากร และค่าธรรมเนียมต่าง ๆ