loader

ที่มารูปภาพ: Freepik

นโยบายทางการเมือง (Political)

      การเมืองมีแนวโน้มความขัดที่สูงขึ้นในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าทั้งในส่วนของการเมืองภายในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ ความขัดแย้งที่ประทุขึ้นเป็นการสู้รบให้หลายภูมิภาคของโลกมีแนวโน้มจะยืดเยื้อและขยายวงกว้างออกไปส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก และของประเทศไทยที่ยังคงต้องอาศัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 2 ภาคได้แก่ ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก เป็นหลัก ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อ SME ใน 2 มิติใหญ่ ๆ คือ 1) เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการเข้าสู่ตลาดของ SME โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดใหม่ ๆ ที่มีความต้องการสินค้าที่หลากหลาย 2) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ปัญหาและความรุนแรงของอุปสรรคที่เกิดขึ้นต่อระบบโลจิสติกส์โลกทั้งในเรื่องการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพน้อยลง (International logistic bottleneck) และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของต้นทุนค่าขนส่งระหว่างประเทศจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ปรากฏให้เห็นแล้วในช่วงแรก ๆ ของการใช้มาตรการผ่อนคลายจากมาตรการจำกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา 

      จากสงครามการแย่งชิงขั้วพันธมิตรของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย ทำให้เกิดนโยบายการเมือง ขยายการลงทุนในประเทศที่ยากจนและประเทศกำลังพัฒนา ผ่านความร่วมมือทางการค้า และโครงการความช่วยเหลือและโครงการลงทุนรูปแบบต่าง ๆ ดังเห็นได้ชัดเจนล่าสุด ได้แก่ โครงการรถไฟสายลาว-จีน ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างกรุงเวียงจันทน์ของลาวกับนครคุนหมิง ภายใต้โครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt & Road Initiative, BRI) เพื่อขยายเส้นทางการเดินทางขนส่งเชื่อมต่อผู้คนใน 70 ประเทศทั่วโลกทั้งทางบกและทางทะเล ทำให้เกิดการขนส่งทั้งผู้คนและสินค้าแผ่เข้ามายังประเทศต่าง ๆ อันรวมถึงประเทศไทย ซึ่งนโยบายการเมืองดังกล่าวเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศให้เพิ่มขึ้นไปเท่าตัว


      การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์จากการเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเวทีโลกทางทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของจีน แสดงให้เห็นชัดเจนมากขึ้นผ่านความตึงเครียดในกรณีของประเทศไต้หวัน ต่อเนื่องจากการเริ่มขึ้นของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่สมัยรัฐบาล ปธน. ทรัมป์ และแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนสมัยรัฐบาลมาสู่การนำของปธน. ไบเดน เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษีที่ถึงนำมาใช้ก็ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ฝ่าย ในทางเศรษฐกิจ จีนยังคงดำเนินมาตรการเพื่อแผ่ขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองไปในหลายภูมิภาครวมทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(ซึ่งมีอาเซียนเป็นกลุ่มประเทศหลักในภูมิภาคนี้) ใน 3 ช่องทางที่สำคัญ คือ 1) ภายใต้โครงการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่เน้นเรื่องการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบก (ระบบถนนและระบบราง) เชื่อมต่อภูมิภาคกับประเทศจีน 2) การจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asia Infrastructure Investment Bank: AIIB) เพื่อการสนับสนุนทางการเงินกับประเทศที่ต้องการในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และ 3) การเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในกระบวนการพัฒนาพื้นที่ตลอดลุ่มแม่น้ำโขงในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) และเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคเพื่อการพัฒนา การดำเนินการดังกล่าวทำให้จีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาค การค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคจำเป็นต้องมีการพึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้อิทธิพลของจีนหลีกเลี่ยงได้ยากที่ผู้ประกอบการ SME จะมองข้ามความสำคัญของตลาดจีน และความเชื่อมโยงในห่วงโซ่มูลค่าของจีน (Chinese Value Chain) 


      นอกจากนี้ ในทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วง 10 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มจะมีความตึงเครียด (Political Tensions) เพิ่มขึ้นตามลำดับ ถือว่าเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic Risk) ที่ผู้ประกอบการ SME ต้องติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวรองรับ ความไม่แน่นอนและความขัดแย้งทางการเมือง ตัวอย่างผลกระทบจากสงครามการเมืองระหว่างประเทศ อาทิ การแย่งชิงขั้วพันธมิตรในการพัฒนาและส่งออกชิพที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดการชะงักในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนดังกล่าวในการผลิต อาทิ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SME ในสายโซ่อุปทานดังกล่าวเกิดการชะงักและมีปัญหาสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนตามมา หรือในกรณีสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้วัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ยและธัญพืชเพิ่มสูงขึ้น ที่ขาดแคลนจากภาวะสงครามและต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น


      นอกจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจะเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบของการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการค้า (Trade creation) ให้กับผู้ประกอบการ SME แล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนการค้า (Trade costs) โดยเฉพาะต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศและการบริหารจัดการเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งส่งผลกระทบมากต่อผู้ประกอบการ SME เพราะมีขนาดเล็กแล้ว ยังส่งผลให้มีแนวโน้มของการใช้มาตรการทางการค้า (โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร) เพิ่มมากขึ้นมากจนนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของข้อพิพาททางการค้า (Trade Disputes) ซึ่งผู้ประกอบการ SME จะประสบกับปัญหามากขึ้นในการปรับตัวในตลาดการค้าโลก การมีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยให้ผู้ประกอบการ SME  สามารถเข้าถึงได้ มีความชัดเจนจะเป็นประโยชน์และมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการ SME ในการปรับตัวในช่วงเวลานี้มาก ระบบสารสนเทศของไทยมีการจัดเก็บโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนแต่ละด้านตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานภาครัฐ การบูรณาการข้อมูลสารสนเทศเชื่อมโยงให้เป็นโครงข่ายโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการฐานข้อมูลเป็นแนวทางหนึ่งจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ และจะเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SME ในเวทีโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย