loader
  • จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  • การจดทะเบียนผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ กรมสรรพากร
  • การจดทะเบียนผู้ส่งออกเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ณ กรมศุลกากร
  • การทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก ณ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
  1. จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

       ขั้นตอนการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมีดังนี้

  1. ตั้งชื่อบริษัทที่ต้องการใช้ในการจดทะเบียน ซึ่งการจดทะเบียนทำได้ 3 ช่องทาง ได้แก่
    • จดทะเบียนบริษัทผ่านการใช้บริการสำนักงานบัญชี หรือผ่านผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทออนไลน์
    • ยื่นจดทะเบียนด้วยตนเองต่อนายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในเขตที่อาศัยอยู่ หรือหากอาศัยอยู่ต่างจังหวัดสามารถยื่นได้ที่สำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด
    • จดทะเบียนด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration ผู้ประกอบการจะต้องสมัครสมาชิกและทำการยืนยันตัวตนก่อน เพื่อให้ได้ User Name และ Password สำหรับใช้ในการจดทะเบียนบริษัท เริ่มลงทะเบียนโดยเข้าไปที่หน้าแรกของระบบ DBD e-Registration ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิธีการนี้ผู้ประกอบการจะได้ลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัทจาก 5,000 บาท เหลือ 2,750 บาท  (สำหรับธุรกรรมการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 จนถึง วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566)
  2. จดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและยื่นต่อนายทะเบียน ซึ่งเป็นหนังสือที่มีขึ้นเพื่อใช้สำหรับแสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท ต้องมีการระบุที่อยู่ วัตถุประสงค์ จำนวนหุ้น และข้อมูลของผู้ก่อตั้งซึ่งกำหนดไว้อย่างน้อย 2 คน (นับตั้งแต่ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566) รวมถึงขึ้นต้นว่า “บริษัท” และลงท้ายด้วยคำว่า “จำกัด”
  3. เปิดให้มีการจองซื้อหุ้นของบริษัท โดยบุคคลที่มีสิทธิ์ซื้อหุ้นไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจเท่านั้น ใครก็สามารถเข้าซื้อหุ้นบริษัทได้ โดยจะต้องซื้อขั้นต่ำจำนวน 1 หุ้นขึ้นไป เมื่อมีการจองซื้อขายหุ้นจนครบแล้ว ลำดับต่อไปคือการออกหนังสือเพื่อนัดประชุมผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทอีกครั้ง
  4. จัดประชุมบุคลากรที่ได้รับคัดเลือกในบริษัท เพื่อให้เข้าใจข้อมูลตรงกัน หลังจากขั้นตอนการจดทะเบียนบริษัทแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการจัดประชุมบุคลากรที่ได้รับการคัดเลือกในบริษัทเพื่อให้เข้าใจข้อมูลเรื่องสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็น กฎระเบียบข้อบังคับของบริษัท การเลือกตั้งคณะกรรมการ คัดเลือกผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบรับรองงบการเงิน แจ้งเรื่องค่าตอบแทนของผู้ก่อตั้งบริษัท รวมถึงเรื่องของจำนวนหุ้นบริษัทสุทธิ
  5. จัดตั้งคณะกรรมการบริษัท การประชุมจัดตั้งกรรมการบริษัท ขั้นตอนนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้มีบุคคลดำเนินการจัดเก็บค่าหุ้นบริษัทจำนวน 25% ของราคาหุ้นจริงให้ครบแทนผู้ก่อตั้งบริษัท เพื่อที่จะยื่นขอจดทะเบียนบริษัทนั่นเอง โดยการยื่นจดทะเบียนบริษัทจะต้องดำเนินการภายใน 3 เดือนหลังจากที่มีการประชุมจัดตั้งเท่านั้น หากล่าช้าจะต้องจัดการประชุมขึ้นใหม่
  6. ชำระเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระทั้งหมดในการจดทะเบียนบริษัทจำกัด มีดังนี้
    • ค่าหนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
    • ค่ารับรองสำเนาเอกสารคำขอจดทะเบียน 50 บาท
    • ค่าใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
    • ค่าอากรแสตมป์ 200 บาท
    • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ 500 บาท
    • ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนบริษัทจำกัด 5,000 บาท
  7. รับใบสำคัญและหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายในการดำเนินธุรกิจของคุณ เมื่อถึงขั้นตอนนี้แสดงว่าบริษัทได้ถูกก่อตั้งอย่างเป็นทางการ จดทะเบียนบริษัทเสร็จสิ้นแล้ว สามารถขอรับได้ที่นายทะเบียน ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในพื้นที่ที่อาศัยอยู่หรือสำนักงานพาณิชย์ประจำจังหวัด

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถดูตัวอย่างการกรอกเอกสารต่างๆที่ใช้ในการจัดตั้งบริษัทผ่าน เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เอกสารและคำแนะนำในการจดทะเบียน

2. การจดทะเบียนผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ กรมสรรพากร

วิธีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถกระทำได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

  • ยื่นแบบคำขอผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่ เว็บไซต์กรมสรรพากร
  • ผู้ประกอบการยื่นแบบคำขอด้วยกระดาษ ณ หน่วยจดทะเบียนที่ตั้งสถานประกอบการโดยสามารถตรวจสอบสถานที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร  และศึกษาเอกสารที่ใช้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแบ่งตามสถานะของผู้จดทะเบียน มีรายละเอียดตามตามที่ระบุไว้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

3. การจดทะเบียนผู้ส่งออกเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร ณ กรมศุลกากร

โดยทั่วไปผู้ประกอบการ SMEs มักจะใช้บริการตัวแทนออกของ (Customs Broker) ในการดำเนินพิธีการศุลกากร แต่ถ้าผู้ประกอบการประสงค์จะดำเนินพิธีการทางศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเอง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทะเบียนกับกรมศุลกากร ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 3 ช่องทาง ดังนี้

  • ลงทะเบียนผ่านระบบผู้มาติดต่อออนไลน์ทางเว็บไซต์กรมศุลกากร (Online Customs Registration) ที่ เว็บไซต์กรมศุลกากร
  • ลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนผู้มาติดต่อออนไลน์ทาง Customs Trader Portal กรมศุลกากรการกรอกข้อมูลผ่านระบบ Customs Trader Portal แบ่งผู้ใช้บริการออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทบุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล
  • ลงทะเบียน ณ หน่วยบริการรับลงทะเบียนของกรมศุลกากร ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการลงทะเบียนที่หน่วยบริการของกรมศุลกากร

ที่มา : กรมศุลกากร

ทั้งนี้ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลการทะเบียน สถานะการลงทะเบียน และติดตามสถานการณ์ปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ โดยสมัครใช้งานระบบติดตามสถานะการผ่านพิธีการศุลกากร (e-Tracking)

4. การทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก ณ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

           การขอใบอนุญาต หนังสือรับรองการส่งออก หรือหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าจากกรมการค้าต่างประเทศ ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า จะต้องปฏิบัติตามระเบียบ ประกาศที่กรมการค้าต่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ให้ครบถ้วน เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดจำนวนเอกสาร และลดขั้นตอน ในการติดต่อราชการ กรมการค้าต่างประเทศจึงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ผู้ประกอบการลงทะเบียนผู้ประกอบการ (Registration Database) เพื่อขอใช้งาน User Name กลางนี้ร่วมกับบริการ และ/หรือระบบงานต่างๆ ของกรมการค้าต่างประเทศ โดยมีคำแนะนำในการเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

  • ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า หรือ ผู้รับมอบอำนาจ ต้องลงทะเบียนผู้ประกอบการ ทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อส่งข้อมูลไปยังระบบฯ ของกรม การค้าต่างประเทศ ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ
  • ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า หรือ ผู้รับมอบอำนาจ กรอกข้อมูลคำร้องขอมีบัตรประจำตัวผู้ส่งออก-นำเข้า (แบบ บก.1) และ/หรือบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ (แบบ บก.1/1) ในระบบคอมพิวเตอร์ผ่าน เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ บันทึกส่งข้อมูลไปยังระบบฯ กรมการค้าต่างประเทศ
  • ผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า หรือ ผู้รับมอบอำนาจ ต้องยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวฯ ด้วยตนเอง ลงลายมือชื่อและ/หรือตราประทับของบริษัท/ห้าง/ร้าน ในคำร้องขอมีบัตรประจำตัวฯ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่งานทะเบียน พร้อมแสดงเอกสารประกอบคำขอที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนด
  • กรณีผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า มอบอำนาจให้บุคคลอื่นยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัว ผู้ส่งออก-นำเข้าและ/หรือบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวฯ (แบบ บก.2) และหนังสือรับรองลายมือชื่อผู้มอบอำนาจ (แบบ บก.3) รับรองโดยทนายความ  ที่เป็นสมาชิกสภาทนายความ/สมาชิกสามัญ/วิสามัญแห่งเนติบัณฑิต

หลักฐานเอกสารประกอบที่ต้องแสดงต่อกรมการค้าต่างประเทศ

  • สำเนาบัตรประชาชน/หนังสือเดินทาง/หนังสืออนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย
  • สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (ออกให้ไม่เกิน 3 เดือน) หรือสำเนาทะเบียนการค้าที่ออกโดยหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ
  • สำเนาบัตรประจำตัวทนายความที่เป็นสมาชิกสภาทนายความ/สมาชิกสามัญ/วิสามัญแห่ง เนติบัณฑิตสภา (ประเภทระบุวันหมดอายุ) สำเนาเอกสารประกอบคำร้องขอมีบัตรประจำตัวฯ ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ และประทับตราสำคัญ (ถ้ามี)

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาขั้นตอนการทำบัตรประจำตัวผู้ส่งออก – นำเข้า, ขอทราบ User name กลาง และ Password, งานแก้ไขฐานข้อมูล และงานขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้า – ส่งออกสินค้า ได้ที่ เว็บไซด์กรมการค้าต่างประเทศ