loader

ภาวะเศรษฐกิจ (Economic)       แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้ายังคงมีข้อจำกัดหลายประการ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโต (Potential growth) ได้ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เป็นความท้าทายทั้งในแง่การสร้างศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบาง มีความผันผวนสูง ทั้งจากปัจจัยแวดล้อมภายในประเทศเองและปัจจัยจากต่างประเทศ โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลางจะเป็นการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยต่อการฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค (การตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินมากขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่าย เป็นต้น) และโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายมิติ ผลกระทบการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อจำกัดการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ในการช่วยเหลือและพยุงเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจำนวนมากในหลายประเทศและการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีแนวโน้มจะยึดเยื้อเป็นเวลานานและมีการขยายขอบเขตของความขัดแย้งไปในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ การเติบโตของอัตราเงินเฟ้อยังเกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงาน และต้นทุนการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยี (ต้นทุนจากการเพิ่มขึ้นของภัยคุกคามทางไซเบอร์) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SME ในประเทศที่จะต้องมีการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) นี้อย่างมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก การปรับตัวดังกล่าวมีต้นทุนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานส่งเสริมของภาครัฐ ได้แก่ สสว. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น ที่จะต้องทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการ เพราะมิติของการค้าระหว่างประเทศสำหรับ SME ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายและมีความซับซ้อนมากขึ้น        แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับช่วงระยะเวลาที่อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกเป็นระยะเวลายาวพอสมควร (อัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะกลับลงไปอยู่ในระดับต่ำอย่างที่เป็นมาในอดีตช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา) […]