loader

ผู้ประกอบการควรสำรวจและหาคู่ค้าที่มีศักยภาพในหัวข้อต่อไปนี้

           1. สภาพทางภูมิศาสตร์ได้แก่ ลักษณะที่ตั้งของประเทศ ขนาดพื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ อาจมีผลต่อคุณภาพสินค้าปลายทางได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ถ้าไม่มีการอบให้แห้งก่อนส่งไประเทศที่มีอากาศแห้ง เฟอร์นิเจอร์ไม้อาจจะแตกจนถูกปฏิเสธในการรับสินค้า

           2. ข้อมูลประชากรศาสตร์ ได้แก่ จำนวนประชากร เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี ระดับรายได้และนโยบายการค้าของประเทศนั้นๆ

           3. ข้อมูลการผลิตและทรัพยากร เช่นผลผลิตหลักและจำนวนการผลิต ลักษณะของแรงงาน การคมนาคมขนส่ง

           4. สถิติด้านการค้า ประกอบด้วยสถิติการนำเข้าและส่งออกของสินค้า ชนิดของสินค้าที่นำเข้าและส่งออก ประเทศคู่ค่าที่สำคัญ การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศอื่น

           5. ข้อมูลด้านการเงินและการธนาคาร ที่สำคัญคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ค่าเงินสกุลของประเทศนั้นๆ นโยบายทางด้านการเข้าออกของเงินระหว่างประเทศ

           6. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศเป้าหมาย เช่น กฎหมายควบคุมด้านการค้า ระบบศุลกากร อัตราภาษีอากร การผ่านพิธีศุลกากร

           7. การคมนาคมและการขนส่ง ได้แก่ ประเภทการขนส่งหลัก เส้นทางขนส่ง สายหลักทั้งทางเรือ ทางบก ทางอากาศ ทางรถยนต์และรถไฟ ท่าเรือหลัก และเมืองท่าที่สำคัญ

วิธีการหาคู่ค้าในต่างประเทศ

การหาคู่ค้าในต่างประเทศสามารถดำเนินการได้หลายวิธี ดังนี้

           1. Connection Marketing วิธีการทำตลาดกับคนรู้จัก คนใกล้ตัวหรือคนที่สนิทกันเป็นอย่างดี ที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพ

           2. ส่งเจ้าหน้าขององค์กรออกไปสำรวจในต่างประเทศ ทั้งแบบไปชั่วคราวหรือไปประจำถาวร สามารถตรวจสอบและติดต่อคู่ค้าได้ถึงรายละเอียดทั้งความน่าเชื่อถือและความสามารถในการทำธุรกิจที่ต้องการ
ได้โดยตรง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นวิธีที่เสียค่าใช้จ่ายสูง แต่เป็นวิธีที่นิยมเลือกใช้

           3. International trading Marketing วิธีการทำตลาด กับนายหน้า หรือ International trader (ที่เป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมการส่งออก) โดยให้ International trader เป็นคนดำเนินการส่งออก หรือว่า
ทำการตลาดให้ ทางผู้ประกอบการมีหน้าที่เป็นฝ่ายผลิตอย่างเดียว

           4. Internet marketing หรือว่า E-Commerce วิธีการทำตลาดทาง Internet โดยจะเป็นค้าขายทาง Internet หรือ ทาง Website หรือการใช้เครื่องมือในการค้นหา (Search engine) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง เพราะข้อมูลที่ได้ต้องนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติม

           5. Exhibition การเข้าร่วมงานแสดงสินค้ากับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะทำให้เจอกับคู่ค้าโดยตรงเป็นการเจรจาการค้าโดยตรงระหว่างผู้ส่งออกกับผู้นำเข้าในต่างประเทศ เป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักและได้ผลพอสมควร สามารถทำสัญญาซื้อขายและหาลูกได้ในระหว่างงาน

           6. Trade Mission Marketing/Business Matching การทำตลาดเชิงรุก โดยการจัด Road Show โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยนำผู้ประกอบการในเมืองไทย ไปเจรจาการค้ากับผู้ซื้อในต่างประเทศ

           7. การให้ธนาคารที่ติดต่ออยู่เป็นผู้แนะนำคู่ค้า โดยการให้ธนาคารพานิชย์ที่บริษัทมีการติดต่ออยู่ช่วยตรวจสอบข้อมูลของคู่ค้าในประเทศที่ธนาคารนั้นมีสาขา หรือมีธนาคารพันธมิตรอยู่ด้วย ซึ่งวิธีนี้ใช้ได้กับธุรกิจที่มีความคุ้นเคยกับธนาคารเป็นอย่างดี และธนาคารมีข้อมูลของคู่ค้าซึ่งตรงกับความต้องการของบริษัทอยู่แล้ว

           8. การทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูต กงสุล หรือหน่วยงานรัฐบาลของไทยที่ประจำอยู่ต่างประเทศให้ช่วยแนะนำบริษัทคู่ค้าให้ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลไทย พยายามสนับสนุนกิจกรรมส่งออก ด้วยการให้สถานทูตในประเทศต่าง ๆ มีการทำงานในเชิงทูตพานิชย์ ซึ่งต้องเก็บรวบรวมข้อมูลการค้า การลงทุน ลักษณะของตลาดและรายชชื่อของผู้ประกอบการต่างๆ ในประเทศที่สถานฑูตประจำอยู่ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนข้อมูลการส่งออกของธุรกิจต่างๆ ที่สนใจได้

           9. การทำหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูต กงสุลของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ให้ช่วยแนะนำบริษัทคู่ค้าให้ ซึ่งก็คือการขอข้อมูลจากสถานกงสุลของประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทยเกี่ยวกับคู่ค้าในธุรกิจนำหรือส่งออกไปประเทศนั้นๆ

          10. การทำหนังสือถึงสมาคมพ่อค้านำเข้าหรือส่งออก หอการค้า หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศให้ช่วยแนะนำบริษัทคู่ค้าให้ ซึ่งเป็นวิธีที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง สะดวก และนิยมใช้กันมาก แต่สมาคมหรือหน่วยงานเอกชนจะไม่แนะนำคู่ค้าให้โดยตรง เพียงแต่จะนำชื่อบริษัทที่ขอรายชื่อไปตีพิมพ์ในนิตยสารหรือหนังสือรายงานประจำปีให้สมาชิกทราบ

           11. การหารายชื่อคู่ค้าจากทะเบียนผู้นำเข้าและส่งออกของประเทศต่างๆ เช่น JETRO Trade Directory ของประเทศญี่ปุ่น หรือรายชื่อที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ที่ได้รวบรวมไว้เป็นรายชื่อทะเบียนนำเข้า ส่งออก

 

ปัจจัยที่ใช้ตรวจสอบและคัดเลือกคู่ค้าในต่างประเทศ

ตามหลักสากลจะมีการตรวจสอบอยู่ 3 ปัจจัย

           1. จรรยาบรรณ (Character) หมายถึง จรรยาบรรณทางการค้าของผู้ประกอบการ ทั้งในด้านชื่อเสียงและเครดิตในการทำการค้า คือไม่หลอกลวงคู่ค้า ไม่ทิ้งสัญญาซื้อขาย และคำนึงถึงคุณภาพในการผลิตและการส่งมอบ โดยพิจารณาเบื้องต้นได้จากแหล่งการได้ข้อมูลของคู่ค้า เช่นจากงานแสดงสินค้า ซึ่งจัดโดยองค์กรขนาดใหญ่หรือภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐที่น่าเชื่อถือ มีการจัดเป็นประจำทุกปี และผู้ประกอบรายนั้นมาร่วมงานทุกๆ ครั้ง ซึ่งทำให้มีความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ทั้งหมด ยังต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการพิจารณาการเลือกคู่ค้าด้วยความรอบคอบและสุขุม

           2. ศักยภาพ (Capacity) หมายถึงความสามารถในการบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการรายนั้นๆ ซึ่งสามารถพิจารณาจากระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ และขนาดของธุรกิจ ซึ่งถ้าคู่ค้าที่มีศักยภาพสูงสามารถรับคำสั่งซื้อที่มีขนาดใหญ่ได้ และมีอำนาจในการต่อรองต่อคำสั่งซื้อขนาดเล็ก ซึ่งจะมีผลต่อการชำระเงินค่าสินค้าที่ต้องการให้ชำระเงินล่วงหน้า หรือมีปัญหาเรื่องการรับมอบหรือส่งมอบสินค้าในภายหลังได้

           3. เงินทุน (Capital) หมายถึง กำลังเงินทุนของผู้ประกอบการว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีผลถึงเครดิตทางการเงินซึ่งก่อให้เกิดสภาพคล่องในการซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพ หรือ การมีวัตถุดิบคงคลังเตรียมพร้อมในการผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าสำเร็จรูปที่มีคุณภาพสำหรับผู้ส่งออก ในส่วนของผู้นำเข้าถ้าเงินทุนไม่เพียงพอก็จะมีผลต่อการชำระเงิน ซึ่งมีผลเสียกับคู่ค้า

วิธีตรวจสอบเครดิตของคู่ค้าในต่างประเทศ

           วิธีตรวจสอบเครดิตของคู่ค้าในต่างประเทศเพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความสามารถของคู่ค้าก่อนที่จะทำข้อตกลงทางการค้าด้วยการทำสัญญาซื้อขาย ซึ่งประกอบด้วย

           1. การขอให้ธนาคารที่มีบัญชีและความคุ้นเคยกันในประเทศไทยทำการตรวจสอบให้

           2. การทำหนังสือถึงธนาคารที่บริษัทในต่างประเทศแจ้งชื่อไว้ ให้ทำการแจ้งข้อมูลด้านการเงินของบริษัทคู่ค้าในด้านระยะเวลาในการก่อตั้งกิจการ รายชื่อผู้รับผิดชอบ จำนวนทุน ขอบเขตการดำเนินธุรกิจ เงินคงเหลือในบัญชี และยอดเงินเกินบัญชีที่ธนาคารอนุมัติให้

           3. การทำหนังสือถึงธุรกิจที่บริษัทในต่างประเทศอ้างถึง

           4. การขอให้บริษัทคู่ค้าเดิมในต่างประเทศที่คุ้นเคยทำการตรวจสอบให้

           5. การว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการตรวจสอบเครดิตบริษัทในต่างประเทศ