loader
ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม (Ecological and Environmental)


      สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง (Ecological System) ของโลกและของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ (Transition Period) ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจต้องมีการปรับตัวขนานใหญ่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเลือกผลิตภัณฑ์ (ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดไทยและตลาดโลก) การเลือกเทคโนโลยีการผลิต (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องเป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงขึ้น) หรือการยกระดับการผลิตไปสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่สูงขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และการเลือกตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น (ผู้ผลิตได้รับมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากการที่ผู้บริโภคมีความเต็มใจจ่าย หรือ มี Willingness to pay) มากขึ้น) นอกจากนี้ ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าจะเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงในทุกมิติ สภาพแวดล้อมมีความ ผันผวนมาก หรือที่เรียบว่าอยู่ในสภาวะ VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, and Ambiguity) 

      ภายหลังการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP 26 ว่าด้วยข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่จะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศต่าง ๆ ได้ให้ปฏิญญาณร่วมกันรวมทั้งประเทศไทยที่มุ่งจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับนโยบาย BCG ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ทำให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกปรับรูปแบบการทำธุรกิจ หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (eV) ในภาคขนส่ง และใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy, RE) อันเป็นพลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้แล้วไม่มีวันหมดไป มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมาก เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เช่น ลม แสงแดด และน้ำ สามารถนำมาพัฒนาเป็น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม รวมถึงการเร่งพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเพื่อเข้ามาทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคขนส่งให้เกิดขึ้นในเร็ววัน 

      ในขณะที่การประชุม COP28 ที่จัดขึ้นในเดือน ธค. 2023 ณ นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ข้อสรุปสำคัญที่สะท้อนการจัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากโลกร้อนแก่ชาติยากจน และข้อตกลงเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความจริงจังและเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากกิจกรรมหรือมาตรการเดิมที่แต่ละประเทศที่เคยเสนอมาในการประชุมครั้งก่อนนั้น ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก ไม่ให้เพิ่มขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรมเกิน 1.5 องศาเซลเซียส โดยผู้แทนจากกว่า 130 ประเทศที่มาร่วมการประชุม COP28 เห็นชอบร่วมกันว่าจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 ขณะที่บริษัทผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 50 แห่ง ตกลงจะตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้มีเทนทั้งหมดภายในปี 2593

      สำหรับผู้ประกอบการ SME เองนั้น การคำนึงและปฏิบัติในหัวข้อคาร์บอนเครดิตภายใต้มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป หรือการเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้า (Border Carbon Adjustment: BCA) ของสหรัฐอเมริกา คงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์ “การปรับตัวของผู้ประกอบการ SME ไทย มุ่งสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” 

      ในอนาคตมาตรการข้างต้นอาจไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการ SME จำเป็นต้องปรับตัวด้วยการนำหลักแนวคิดเรื่อง ESG อันเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment Social และGovernance มาประยุกต์ใช้ในองค์กร เพื่อรองรับความเข้มข้นในประเด็นเรื่องความยั่งยืนจากคู่ค้าและแบรนด์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ที่จะให้ความสำคัญและเลือกทำธุรกิจกับคู่ค้าหรือผู้ประกอบการที่มีหลักปฏิบัติภายใต้แนวคิดความยั่งยืนดังกล่าวในเชิงประจักษ์อย่าง ESG Scoring ที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้น

ที่มารูปภาพ: knowesg.com