loader
ภาวะเศรษฐกิจ (Economic)

      แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้ายังคงมีข้อจำกัดหลายประการ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโต (Potential growth) ได้ในช่วงร้อยละ 2.5-3.5 เป็นความท้าทายทั้งในแง่การสร้างศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเปราะบาง มีความผันผวนสูง ทั้งจากปัจจัยแวดล้อมภายในประเทศเองและปัจจัยจากต่างประเทศ โดยความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลางจะเป็นการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยต่อการฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค (การตระหนักถึงภาวะฉุกเฉินมากขึ้น และพฤติกรรมการใช้จ่าย เป็นต้น) และโครงสร้างทางเศรษฐกิจในหลายมิติ ผลกระทบการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อจำกัดการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้มาตรการทางการคลังขนาดใหญ่ในการช่วยเหลือและพยุงเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่แสดงให้เห็นจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจำนวนมากในหลายประเทศและการเกิดขึ้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งมีแนวโน้มจะยึดเยื้อเป็นเวลานานและมีการขยายขอบเขตของความขัดแย้งไปในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้ การเติบโตของอัตราเงินเฟ้อยังเกิดขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงาน และต้นทุนการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยี (ต้นทุนจากการเพิ่มขึ้นของภัยคุกคามทางไซเบอร์) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการ SME ในประเทศที่จะต้องมีการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) นี้อย่างมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก การปรับตัวดังกล่าวมีต้นทุนและเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากหน่วยงานส่งเสริมของภาครัฐ ได้แก่ สสว. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น ที่จะต้องทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการ เพราะมิติของการค้าระหว่างประเทศสำหรับ SME ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายและมีความซับซ้อนมากขึ้น 


      แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับช่วงระยะเวลาที่อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกเป็นระยะเวลายาวพอสมควร (อัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะกลับลงไปอยู่ในระดับต่ำอย่างที่เป็นมาในอดีตช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา) รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อและความผันผวนของระดับราคาสินค้าและบริการ (การขาดเสถียรภาพทางด้านราคา) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 2 ถึง 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตปกติ (Normal growth rate) การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และรายประเทศมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีแนวโน้มที่ต่ำลงตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) 


      ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศและระบบนิเวศของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (International Economic Landscape and Economic Integration Ecosystem) ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 แนวโน้มการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีข้างหน้าแม้ว่าจะมีกระแสในทางตรงข้ามกับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่มองว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลง มีลักษณะที่เป็นการแยกตัวจากการรวมกลุ่ม (Decopling) จากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มมีการใช้มาตรการทางการค้าทั้งในลักษณะที่เป็นภาษีศุลกากรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรตามวัตถุประสงค์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Environmental and Sustainable Measures) ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและมาตรการที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย (Safety and Sanitary Measures) ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ แต่ก็มีมุมมองที่เห็นแตกต่างว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจยังคงจะขยายตัวต่อเนื่องในช่วงต่อไปในอนาคต เพียงแต่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจจะไม่ได้เป็นการเกิดขึ้นทั่วไป แต่จะแยกเป็นส่วน ๆ ในลักษณะที่เรียกว่าเป็น “Fragmented Globalization” ลักษณะดังกล่าวจะทำให้รูปแบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีความเฉพาะตัวมากขึ้นทั้งในมิติของคู่ภาคีสมาชิกในกรอบความตกลง และประเด็นทางการค้าและการลงทุนที่ครอบคลุมในความตกลง แทนที่ความตกลงในลักษณะที่ครอบคลุมกว้างขวาง (Comprehensive Agreement) ข้อตกลงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นความตกลงระหว่างกลุ่มประเทศพันธมิตรที่มีความสนใจร่วมกันเฉพาะเรื่อง (Common interests in specific issues) ซึ่งสำหรับประเทศไทย และ SME ไทยที่เป็นประเทศเปิดขนาดเล็ก จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้โดยการสร้างโครงข่ายการสื่อสารระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชน (SME) เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างความตกลง อาศัยกระบวนการของการสร้างความตกลงที่หลากหลายเพื่อการกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) อาศัยโครงข่ายของ SME ในการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ระหว่างกัน SME จำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันโดยอาศัยความได้เปรียบที่มีขนาดเล็ก แต่สามารถมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ผันผวนมากขึ้น เข้าถึงตลาดเฉพาะที่มีขนาดเล็กลงมากขึ้น แต่สามารถเข้าถึงหลายตลาด หลายช่องทาง โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น 

 

      แม้เศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัวหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ก็เป็นลักษณะการฟื้นตัวในรูปแบบเศรษฐกิจถดถอยจากภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งราคาเชื้อเพลิงพลังงานและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน การดำเนินธุรกิจต่าง ๆ จะเปลี่ยนรูปแบบสู่ยุค Platform Economy ขนาดของตลาด e-Commerce ทั่วโลกจะเติบโตขึ้นจากมูลค่า 5.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 รวมทั้งตลาด e-Commerce ของประเทศไทย ซึ่งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ในปี 2563 ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 3.78 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนของมูลค่าอีคอมเมิร์ซในรูปแบบ B2C มากที่สุด คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.17 ล้านล้านบาท B2B มีมูลค่ากว่า 0.84 ล้านล้านบาท และ B2G มีมูลค่า 0.77 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยในปี 2564 เติบโตอยู่ที่ 4.01 ล้านล้านบาท โดยปัจจัยเกื้อหนุนให้ Platform Economy คือ พัฒนาการและความปลอดภัยในระบบ e-Wallet รวมถึงเทคโนโลยี KYC (Know Your Customer) ที่ทำให้ความนิยมในการใช้ Digital Money เพิ่มสูงขึ้นมาก จากการเติบโตของตลาด e-Commerce ทั่วโลกดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และขนส่งพัสดุภัณฑ์ทั่วโลกได้รับผลเชิงบวกเติบโตแบบก้าวกระโดดจากอุปสงค์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน

Platform Economy

      Platform Economy และการเติบโตของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ก่อให้เกิดรูปแบบของธุรกิจใหม่ ๆ สำหรับผู้ประกอบการ SME อาทิ ธุรกิจแบบ Drop shipping Model ที่เป็นรูปแบบการขายสินค้า โดยผู้ขาย หรือร้านค้าปลีก ทำการขายสินค้า โดยไม่จำเป็นต้อง Stock สินค้า และไม่ต้องเป็นคนส่งสินค้าเอง โดยใช้ประโยชน์จากระบบ Online เมื่อร้านค้า หรือผู้ขาย มีออเดอร์เข้ามา ก็ทำการสั่ง Order สินค้าผ่านระบบออนไลน์ และส่ง Order ไปยังผู้ผลิต (เช่น โรงงานหรือผู้ค้าส่ง ที่เป็นคู่ค้ากัน) ทางผู้ผลิต เมื่อได้รับ order ก็จะเป็นคนส่งสินค้าตรงไปยังลูกค้าโดยตรงผ่านผู้ให้บริการโลจิสติกส์และพัสดุภัณฑ์

ที่มารูปภาพ: hellotax.com

      นอกจากนี้การการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขับเคลื่อนให้โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมภาคธุรกิจและระบบการเงินไทย ในการสร้างความพร้อมเพื่อปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทัน ทั่วถึง และมั่นคงปลอดภัยโดยให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางโครงสร้างพื้นฐานสู่บริการทางการเงินดิจิทัลที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและศักยภาพของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และให้ความสำคัญในการทำ digital transformation ที่มี 2 มิติ คือ (1) การตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน เช่น การเข้าถึง ความสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนที่เหมาะสม และการได้รับบริการที่เป็นธรรม (2) ความปลอดภัยของระบบ รวมถึงการดูแลในเรื่องการคุ้มครองทางการเงินให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างครอบคลุม และเพิ่มประสิทธิภาพและการแข่งขัน นอกจากนี้ยังต้องมีการเชื่อมโยงการทำธุรกรรมระหว่างผู้ให้บริการในระบบ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาบริการที่ต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐาน โดยตัวอย่างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในระบบการเงินดิจิทัลของไทย เช่น e-payment PromptPay และ Standard Thai QR Code

      พัฒนา Digital Transformation เพื่อยกระดับการเข้าถึงสินเชื่อ โดยกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการด้านสินเชื่อคือกลุ่มธุรกิจ SMEs ซึ่งถ้าสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จึงขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการ ตั้งแต่การขอสินเชื่อ การประเมินความเสี่ยงและความสามารถในการชำระหนี้ ไปจนถึงการอนุมัติสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) หรือใช้ข้อมูลหลายประเภทในการพิจารณาสินเชื่อแทนการใช้เอกสารหลักฐานรายได้หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของผู้ใช้บริการ และมีการคำนึงถึงสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

      Digital Factoring โครงสร้างพื้นฐานด้านสินเชื่อเพื่อ SMEs เพื่อช่วยให้ SMEs โดยเฉพาะรายย่อยเข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างสะดวกขึ้นและมีต้นทุนที่ต่ำลง ผ่านโครงการแนวทางการพัฒนา ecosystem สำหรับการให้บริการดิจิทัลแฟ็กเตอริง (Digital Factoring) ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาระบบนิเวศสำหรับการทำธุรกรรมแฟ็กเตอริงในรูปแบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดยมีระบบฐานข้อมูลกลาง (Central Web Service: CWS) เพื่อให้ผู้ให้บริการแฟ็กเตอริงใช้ตรวจสอบข้อมูลใบแจ้งหนี้ทางการค้าก่อนพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกค้า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการปลอมแปลงเอกสารในการขอสินเชื่อและการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (double financing) 

      การพัฒนาระบบนิเวศที่เอื้อต่อระบบการเงินดิจิทัล โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน เพื่อรองรับการให้บริการดิจิทัลได้สะดวกขึ้น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการใช้ข้อมูล (data ecosystem) เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น อาทิ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานผ่านแพลตฟอร์ม National Digital ID (NDID) บริการทางการเงินของภาครัฐและภาคเอกชนอื่น ๆ เช่น การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกันเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน (API Standard) ซึ่งจะยกระดับประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่ไร้รอยต่อ สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตนเองได้สะดวกและรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงิน


      นอกจากนี้ ธปท. ยังร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และผู้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินในการพัฒนาโครงการเพื่อสนับสนุนการชำระเงินที่เชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการค้าครบวงจร ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนและเพิ่มศักยภาพให้กับภาคธุรกิจ ภาคการเงินและภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อต่อยอดบริการที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น